ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น หลังผู้ผลิตเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน หลังรัสเซียออกมาให้ความเห็นว่าตลาดน้ำมันดิบยังคงไม่เข้าสมดุลในเร็วนี้ ส่งผลให้ตลาดลดความกังวลว่ากลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นในเร็วนี้ ก่อนหน้าจากข้อตกลงที่จะสิ้นสุดในปลายปีนี้

+ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค. ปรับตัวลดลงกว่า 4.9 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ระดับ 419.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงเพียง 3.9 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นคงกำลังการผลิตในระดับสูงถึงร้อยละ 95.3 ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 93.6

– ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ม.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 10 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 752 แท่น ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบสัปดาห์นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60

+/- จับตาการประชุมระหว่างกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกในวันที่ 21 ม.ค. นี้ หลังคาดจะมีการพูดคุยหารือถึงมาตรการหลังข้อตกลงจะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ว่ากลุ่มผู้ผลิตจะดำเนินการอย่างไร โดยหนึ่งในบริษัทพลังงานของรัสเซียเสนอให้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นหากราคาน้ำมันดิบสูงกว่าระดับ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ติดต่อกันมากกว่า 6 เดือน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันเบนซินทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลมีการให้โควต้าการส่งออกเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่ยังทรงตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับลดลงมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 61 – 66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 66 – 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาปริมาณผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ หลังสภาพอากาศที่หนาวจัดในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบให้ผู้ผลิตลดการขุดเจาะน้ำมันดิบและหยุดดำเนินการผลิตลงชั่วคราว โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค. ปรับลดลง 290,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเร็วนี้หลังราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงกว่าระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ คงอัตราการกลั่นในระดับสูง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค. ปรับลดลง 4.9 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 419.5 ล้านบาร์เรล

จับตาปริมาณการส่งออกของอิหร่านว่าจะปรับลดลงหรือไม่ หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ รวมถึงความไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ว่าจะมีการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีการคว่ำบาตรเกิดขึ้นคาดจะส่งผลให้หลายประเทศปรับลดการซื้อน้ำมันดิบของอิหร่านและทำให้ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศทวีคูณมากขึ้น