ดอลลาร์แข็งค่า ในขณะที่เฟดยังคงหนักแน่นขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ในขณะที่เฟดยังคงหนักแน่นในการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยในประเทศ สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัว 2.5% ขยายตัวต่อเนื่องจากไตมาสแรก ผลจากการเร่งตัวของภาคบริการจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/8) ที่ระดับ 35.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/8) ที่ระดับ 35.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ถึงแม้ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐ จะย่อลงจากเดือนที่แล้ว แต่สมาชิกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายคนยังคงหนักแน่นในการขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ส่งผลให้ดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในเชิงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

ในขณะที่ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่เฟดจะประกาศชัยชนะในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ และคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเดือนกันยายนนี้

โดยนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 25-27 สิงหาคมนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงในเดือนกรกฎาคม โดยหัวข้อการประชุมในปีนี้คือ “Reassessing Constraints on the Economy and Policy”

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.1 ในเดือนสิงหาคม โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.5 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.5 ในเดือนกรกฎาคม

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาสที่ 2/65 ขยายตัว 2.5% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.3% ในไตรมาสที่ 1/65 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการเร่งตัวของภาคบริการที่มีแรงสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ประกอบกับการดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติขยายตัวสูง อีกทั้งภาวะเงินบาทอ่อนค่า ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกโดยรวมขยายตัว

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ พบว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2 ขยายตัว 6.5% ขณะที่อัตราการว่างงาน ลดลงมาอยู่ที่ 1.37% หนี้สาธารณะ อยู่ที่ระดับ 61.1% ของจีดีพี และทุนสำรองระหว่างประเทศ ยังอยู่ในระดับสูงที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.28-35.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.50/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/8) ที่ระดับ 1.0258/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/8) ที่ระดับ 1.0337/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ในขณะที่เฟดยังคงหนักเน้นในการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟอ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0187-1.0268 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0199/00 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/8) ที่ระดับ 133.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/5) ที่ระดับ 132.63/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2565 ขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อกัน 3 ไตรมาส โดยได้แรงหนุนจากการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 0.5% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.6% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.92-133.59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 133.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษกิจสหรัฐ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือน ส.ค. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.ค. และรายงานการประชุมเฟด เมื่อวันที่ 26-27 ก.ค.

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.50/-7.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.75/-3.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ