ดอลลาร์อ่อนค่า จับตารายงานประชุมเฟด

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า จับตารายงานประชุมเฟด ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐเดือน ก.ค.ชะลอตัวลง หลังเฟดเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน ขณะที่ปัจจัยในประเทศรัฐบาลขอให้ธนาคารของรัฐตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุดเพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชนและผู้ประกอบการ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 17 สิงหาคม 2565 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/8) ที่ระดับ 35.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (16/8) ที่ระดับ 35.52/54 สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาแบบผสม

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านปรับตัวลดลง 9.6% ในเดือนกรกฎาคม สู่ระดับ 1.446 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.540 ล้านยูนิต โดยได้รับผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และราคาวัสดุก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐในเดือนกรกฎาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% หลังจากทรงตัวในเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.8% ในไตรมาส 3 ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว ต่ำกว่าระดับ 2.5% ที่มีการระบุก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

นอกจากนี้ นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก กล่าวถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของสหรัฐได้ชะลอตัวลงในเดือนกรกฎาคม และถือเป็นข้อมูลในเชิงบวกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน

อย่างไรก็ดี นายอีแวนส์กล่าวว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูงอย่างยอมรับไม่ได้ และเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ในขณะที่นักลงทุนจับตารายงานการประชุมเมื่อวันที่ 26-27 ก.ค. ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จาก 0.25% เป็น 0.75% ต่อปี มีเป้าหมายเพื่อให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและสอดคล้องกับสภาวะเงินเฟ้อ โดยรัฐบาลได้ให้ธนาคารของรัฐตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพิจารณาออกมาตรการดูแลลูกหนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการ

ส่วนเรื่องต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมา ยังไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล เพราะสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีการจัดการความเสี่ยงเรื่องการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย และแผนการบริหารต้นทุนกู้เงินไว้

ทั้งนี้ ภาพรวมหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 สบน.รายงานอยู่ที่ระดับ 61.06% และคาดว่าภายในสิ้นปีงบประมาณ 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 61.3% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.33-35.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (17/8) ที่ระดับ 1.0173/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (16/8) ที่ระดับ 1.0130/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แต่ยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่า ท่ามกลางความกังวลต่อการชะลอทางเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้นักลงทุนยังคงระมัดระวังในการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0150-1.0186 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0172/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/8) ที่ระดับ 134.19/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (16/8) ที่ระดับ 134.10/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผย ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 1.44 ล้านล้านเยน (1.07 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินเยนและราคาสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งนับเป็นการขาดดุลเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.92-134.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.84/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่จะมีการรายงานในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีการผลิตเดือน ส.ค.จากเฟดฟิลาเฟีย, ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.ค., ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ก.ค.จากคอนเฟอเรนซ์บอร์ด (Conference Board) เป็นต้น

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.5/-6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่าางประเทศอยู่ที่ -4.75/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ