ไตรมาส 1 SET ไปต่อ

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด

สวัสดีปีจอ ขอต้อนรับนักลงทุนสู่คอลัมน์ “จับช่องลงทุน” ของ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ โดยทีมวิจัยรายการ #ATO (At the Open) บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซึ่งเป็นรายการวิเคราะห์หุ้นออนไลน์ ที่มีเรตติ้งสูงสุดในขณะนี้ ด้วยยอดวิวกว่า 5,000 วิว และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน ซึ่งนำทีมการเขียนเรื่องราวดี ๆ โดยวิจิตร อารยะพิศิษฐ และสรพล วีระเมธีกุล สองนักกลยุทธ์รุ่นใหม่ ที่มาวิเคราะห์เจาะลึกแบบครบเครื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ ภาพรวมตลาด ปัจจัยที่น่าสนใจทั้งในและต่างประเทศ ประเด็นเด่น ๆ ที่ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้น นำมาวิเคราะห์ คัดเลือกให้นักลงทุนได้ลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ และกำลังเป็นกระแสของตลาดทุน ด้วยมุมมองที่เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อให้นักลงทุนได้เข้าถึง พร้อมสอดแทรกความรู้ตลาดทุนในทุกแง่มุมของการลงทุน !

ฉบับปฐมฤกษ์นี้ ทีม #ATO ขอเริ่มด้วยการสรุปภาพรวมตลาดในปี 2560 ที่ผ่านมา SET ปรับตัวขึ้นประมาณ 13% (ค่าเฉลี่ย MSCI Asia Pacific Ex. Japan ปรับตัวขึ้น 33.1% ในขณะที่กลุ่ม TIP ปรับขึ้นเฉลี่ย 19.8%) โดย 5 หุ้นหลักที่ดันดัชนี คือ AOT, PTT, KBANK, ADVANC และ CPALL ส่งผลให้ SET ปรับตัวขึ้นกว่า 110 จุด คิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 50% ในขณะที่หุ้นกดดัชนี คือ GL, TRUE, CPF, BLA และ KCE

โดยปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้ตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวขึ้นทดสอบระดับสูงสุด ได้แก่ 1) อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลก (GDP) ฟื้นตัว พร้อม ๆ กันทั่วโลกทั้งฝั่งสหรัฐ, ยุโรป และเอเชีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกหลังจากเกิด subprime crisis ในปี 2551 โดยประเทศไทยได้ประโยชน์ทางอ้อม จากช่องทางการส่งออก และถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้เติบโต 3.8%-4.0% ถือเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ไตรมาส 2) การฟื้นตัวของภาคการบริโภคในประเทศ สะท้อนจากรายได้เฉลี่ยต่อสาขา (SSSG%) ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่พลิกกลับมาทำระดับสูงสุดในรอบหลายไตรมาส อาทิ BIGC, HMPRO, CPALL, M 3) การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบ เป็นผลจาก demand (เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว) และฝั่ง supply (OPEC ลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปถึงปลายปี 2561) ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 15% เป็นผลทางอ้อมให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นเกือบ 20% และ 4) การเมืองในช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่อนคลาย และนายกฯมีแถลงการณ์ช่วงการเลือกตั้ง (sentiment)

สำหรับการลงทุนในไตรมาส 1/2561 หากนับจากปัจจัยต่างประเทศ, อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) และอัตราการเติบโตของหุ้น EPS18 growth (%) พบว่าตลาดหุ้นเอเชียยังมีความน่าสนใจในการลงทุน โดย World Bank คาดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค East Asia-Pacific (EAP) ปี 2561 จะเติบโตสูงกว่า 6.2% (โดยปรับเพิ่ม GDP ของประเทศมาเลเซียและไทย) ในขณะที่หากเทียบ EPS18 growth (%) ของ MSCI Asia-Pacific ex Jap. พบว่าเติบโตสูงกว่า 16.7% และหากมองการลงทุนในประเทศไทย พบว่ามีปัจจัยสนับสนุนเช่นกัน MKET เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกต่อการบริโภคในประเทศในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากหลายมาตรการของรัฐ ที่เร่งแก้ไขปัญหากลุ่มคนกำลังซื้อต่ำ ผ่านทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ให้ช่วยดูแลราคาสินค้าเกษตรหลักของประเทศ, การกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง, มาตรการช่วยเหลือ SMEs, การแก้ปัญหาคนจนเฟส 2 และที่สำคัญที่สุด คือ ครม.เตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-15 บาททั่วประเทศ

มาตรการเหล่านี้ ถือเป็นการช่วยเหลือกลุ่มคนกำลังซื้อต่ำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภค โดยคาดหวังให้เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อ GDP มากกว่า 55% และใน 1Q61 ถือเป็นช่วงที่หลายเครื่องยนต์ กลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน โดยสามารถคาดหวังการเติบโตเมื่อเทียบกับ 1Q60 ได้จากฐานที่ต่ำ (GDP เติบโต 3.3%, ส่งออก (USD) เติบโต 4.9%, การลงทุนเอกชน -1.1% และการใช้จ่ายภาครัฐ +0.3%)

ทาง MKET มองกรอบการแกว่งตัวของ SET บริเวณ 1,780-1,820 จุด แนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากหุ้นหลายตัวปัจจุบันมี valuation ในระดับที่ไม่ได้ถูกมากนัก ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้อาจจำเป็นต้องใช้ปัจจัยบวกเฉพาะตัวหลายอย่าง มาช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนราคาหุ้นให้แกว่งตัวขึ้นต่อ อาทิ แนวโน้มผลประกอบการที่คาดขยายตัวแกร่ง, story บวกของหุ้นต่าง ๆ รวมถึงหุ้นตัวนั้นมีอัตราเงินปันผลที่น่าสนใจ ถือเป็นตัวช่วยจำกัด downside ของราคาหุ้นได้