ธุรกิจรายใหญ่แห่ลงทุนนอก แบงก์ปั้นลูกค้ารุกตลาดอาเซียนคึกคัก

ธุรกิจรายใหญ่คึกคักต่อเนื่อง ปี’61 สยายปีกลงทุนธุรกิจในต่างประเทศ ส่องประเทศน่าลงทุนในแถบ “อาเซียน-CLMV” ชี้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม พลังงาน เฮลท์แคร์ มาแรง ฟาก “ซีไอเอ็มบี ไทย” ใช้เครือข่ายแบงก์แม่ 10 ประเทศ ลุยดีลซื้อกิจการ 20 ดีลภายในปี’61 ค่ายกสิกรไทยเผยเทรนด์ลูกค้าส่องประเทศอินโดนีเซีย-เวียดนาม ลั่นพาร์ตเนอร์พร้อมเข้าลงทุนต่อยอดธุรกิจ

นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2561 จะเห็นแนวโน้มธุรกิจของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ (รายได้ 3,000 ล้านบาทขึ้นไป) ยังคงมีการเติบโตที่ดี และมีแผนจะขยายการลงทุนออกไปในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยจะเป็นการเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น

“สายงานธุรกิจรายใหญ่กว่า 90% เป็นลูกค้าไทยไปขยายงานในต่างประเทศ ต่อเนื่องจากปี 2560 ซึ่งเรามีดีลธุรกิจรายใหญ่กว่า 20 ดีลที่จะส่งต่อมาถึงปีนี้ เช่น ดีล M&A (ซื้อกิจการ) ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศในอาเซียน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ โดยธุรกิจที่คนไปลงทุนกันเยอะมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน เฮลท์แคร์ hospitality โลจิสติกส์” นายพรชัยกล่าว

สำหรับกลยุทธ์หลักของธนาคารในการดูแลลูกค้ารายใหญ่ คือ ธนาคารมีจุดแข็งด้านเครือข่ายราว 10 ประเทศทั่วอาเซียน ถือเป็นความเชี่ยวชาญที่เข้าถึงข้อมูลเรื่องอาเซียน และการให้บริการธุรกรรมการเงินที่ครบวงจร เช่น เงินทุนหมุนเวียน (working capital) ศูนย์บริหารเงิน (treasury center) ฯลฯ

นายพรชัยกล่าวว่า ธนาคารจะมีรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ของสายงานธุรกิจใหญ่ สัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของรายได้ค่าฟีโดยรวม ซึ่งจะมาจากการทำดีล M&A สำเร็จ และ treasury center ซึ่งลูกค้าปัจจุบันมีความเข้าใจสถานการณ์เรื่องค่าเงิน และมีความต้องการบริหารเงินสด และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้มีกำไร

ด้านนายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2561 ลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารยังมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน และ CLMV เพราะเป็นประเทศที่เริ่มเปิดใหม่ด้านการค้า การลงทุน โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

“ปีนี้ประเทศที่ลูกค้าให้ความสนใจ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ในขณะที่อินโดนีเซียเป็นตลาดที่เกิดมาระยะหนึ่ง และมีความพร้อมทั้งเรื่องพันธมิตรและปัจจัยพื้นฐาน จึงเห็นนักลงทุนเข้าไปลงทุนในธุรกิจอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจรายย่อย” นายสุวัฒน์กล่าว

นายยุทธนา ไสไทย ผู้อำนวยการ Head of Foreign Direct Investment Commercial Banking ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า แนวโน้มการออกไปลงทุนของธุรกิจไทย ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลาง ที่มียอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป ที่เริ่มมองหาโอกาสออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อเข้าใกล้ลูกค้า และใกล้ซัพพลายเออร์มากขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนบริษัทตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไป ออกไปลงทุนต่างประเทศราว 250 บริษัท จากปี 2560 ที่มีบริษัทออกไปลงทุนราว 150 บริษัท และคาดการณ์ว่าจะหนุนให้สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับการลงทุนต่างประเทศ เติบโตได้ราว 20% ในปีนี้

สำหรับประเทศที่ภาคธุรกิจนิยมไปลงทุน อันดับแรกคือ สิงคโปร์ เนื่องจากต้นทุนทางภาษีที่ถูกกว่าประเทศอื่น ๆ ภาคธุรกิจจึงใช้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางก่อนไปลงทุนประเทศอื่น ๆ ต่อ รองลงมา คืออินโดนีเซีย และเมียนมา โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวกับเทรดดิ้ง และภาคการผลิต

“ล่าสุด ยูโอบีให้บริการพาลูกค้าไปลงทุนฟรี ๆ โดยธนาคารอาศัยการใช้เครือข่าย เน็ตเวิร์กที่ธนาคารมีอยู่ทั่วโลก เข้าไปช่วยการลงทุนแบบไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม แต่สิ่งที่เราหวังว่า อนาคตนักลงทุนที่เข้าไปลงทุน เขาอาจจะต้องการเวิร์กกิ้งแคป (เงินทุนหมุนเวียน) ที่ยูโอบีมีโอกาสเข้าไปซัพพอร์ตได้ ตอนนี้ในประเทศ ทุกบริษัทไม่มีแผนลงทุนใหม่ เก็บคองอเข่า เพราะกำลังการผลิตของทั้งประเทศยังไม่เต็ม ดังนั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่ ดังนั้นเวลานี้คนที่มีกำลังควรออกไปตอนนี้เพื่อรู้จักช่องทาง สร้างพาร์ตเนอร์ไว้” นายยุทธนากล่าว