บาทผันผวน หลังศาลรับคำร้องวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี “ประยุทธ์”

เงินบาท ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร

เงินบาทผันผวน หลังศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนเงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 36.04/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นักลงทุนยังคาดการณ์เฟด ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 24 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/8) ที่ระดับ 36.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/8) ที่ระดับ 36.13/15 บาท/ดอลลาร์

เมื่อคืนที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 45.0 ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 27 เดือน จากระดับ 47.7 ในเดือน ก.ค.

โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัวและเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานเป็นหลัก

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 12.6% สู่ระดับ 511,000 ยูนิตในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2559 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 575,000 ยูนิต ซึ่งจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ก.ย.

ส่งผลให้ล่าสุดตัวเลขคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% และ 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ก.ย. เริ่มเข้าใกล้ 50-50 หลังจากที่ในช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนเทน้ำหนักว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 25-27 สิงหาคมนี้ ซึ่งคาดว่าในการประชุมเฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ของเฟด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศในช่วงเช้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบตามสกุลเงินในภูมิภาค สำหรับช่วงบ่ายค่าเงินบาทแกว่งตัวผันผวนขึ้น หลังนักลงทุนได้รับรายงานข่าวที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับพิจารณาคำร้องกรณีที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เข้าชื่อ เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าสิ้นสุดลงของตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่

โดยทางศาลมีมติ 5 ต่อ 4 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันนี้ และรอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจากรายงานข่าวดังกล่าวทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นสู่ระดับ 36.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนเคลื่อนไหวผันผวนและกลับมาแข็งค่าปิดตลาดที่ระดับ 36.04/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.03-36.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/8) ที่ระดับ 0.9947/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/8) ที่ระดับ 0.9921/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นช่วงค่ำคืนที่ผ่านมาหลังทางสหรัฐประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีแรงเทขายจากนักลงทุน

ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรแข็งค่าไปทดสอบระดับ 1.0015 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนที่จะทยอยอ่อนค่าลงกลับมาอีกครั้ง โดยค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากหลายปัจจัย เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น และแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หลังจากข้อมูลบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคส่วนใหญ่หดตัวลงในเดือนนี้

นอกจากนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่สิ้นสุด ล่าสุดประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวว่า ยูเครนจะพยายามนำคาบสมุทรไครเมียกลับมาอยู่ในครอบครอง หลังจากที่ถูกรัสเซียผนวกดินแดนไปตั้งแต่ปี 2557 โดย ปธน.เซเลนสกียังเตือนว่า รัสเซียจะเผชิญการตอบโต้อย่างหนัก หากทำการโจมตียูเครนในวันนี้ ซึ่งเป็นวันชาติของยูเครน

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9935-0.9962 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9945/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/8) ที่ระดับ 136.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/8) ที่ระดับ 137.38/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ค่าเงินเยนยังถูกกดดันจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกที่เริ่มมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐซึ่งล่าสุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและสหรัฐอายุ 10 ปี ได้ยืนเหนือระดับ 3% ซึ่งยิ่งเพิ่มความแตกต่างในด้านผลตอบแทนระหว่างสองสกุลเพิ่มมากยิ่งขึ้น

สำหรับความเคลื่อนไหวในการเปิดประเทศของญี่ปุ่น ล่าสุดนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 โดยระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.นี้เป็นต้นไป ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 3 เข็มแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องทำการตรวจเชื้อก่อนเดินทาง

นอกจากนี้จะมีการพิจารณาเพิ่มเพดานการรับนักเดินทางรายวันจากต่างประเทศ จากปัจจุบันซึ่งกำหนดไว้ที่ 20,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 136.17-137.77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 136.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.ค. (24/8), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2565 (ประมาณการครั้งที่ 2) (25/8) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ก.ค. (26/8) ของสหรัฐ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ไตรมาส 2 และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ส.ค.จากสถาบัน Ifo ของเยอรมนี (25/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.50/-5.30 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.5/-3.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ