ธปท.ออกเกณฑ์ใหม่คุมเข้มแบงก์ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โทษปรับสูงสุด 1 ลบ.-ห้ามทำธุรกรรม

ธปท.เอาจริง ขุมเข้มการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านการให้บริการทางการเงิน หากผิดกฏที่วางไว้สูงสุดคิดเบี้ยปรับถึง1ล้านบาท หรือยกเลิกการอนุญาตให้แบงก์ทำธุรกรรมนั้นๆ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. กล่าวว่า ล่าสุดธปท.ได้ยกระดับเกณฑ์ การบริหารจัดการด้านการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรรม (Market conduct) เพื่อมาบังคับใช้กับสถาบันการเงิน เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เนื่องจากที่ผ่านมา มีการร้องเรียนทางการเงินเข้ามาค่อนข้างมากเกี่ยวกับ การบังคับขายประกัน ขายพ่วงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือการโทรขายผลิตภัณฑ์ผลิตทางการเงินที่รบกวนประชาชน ดังนั้นเกณฑ์ใหม่นี้ก็ออกมาเพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติให้แบงก์ปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน โดยเกณฑ์ใหม่นี้คาดว่าจะลงราชกิจจานุเบกษาได้ราว สิ้นเดือนม.ค.นี้

โดยการยกระดับครั้งนี้ ธปท.ได้กำหนดเป้าหมาย 9 ด้านด้วยกัน ด้านแรก คือวัฒนธรรมองค์กรและบทบาทหน้าที่ของกรรมการและผู้บริการระดับสูง ที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และมีผู้บริหารที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง หากเกิดความเสียหาย จะได้ดำเนินการแก้ไขอย่างทันถวงที

2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์เหมาะสมกับลูกค้า ความสามารถของพนักงานขายช่องทางการขายระบบงานและการควบคุม เช่น ที่ผ่านมาผู้สูงอายุมักตกเป็นเป้าในการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพราะมีความรู้ไม่เพียงพอ หรือขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เด็กที่ไม่มีความรู้ในผลิตภัณฑ์ดีพอ ดังนั้นการขายผลิตภัณฑ์จึงต้องให้เหมาะกับลูกค้าในแต่ละกลุ่ม และพนักงานควรมีความเข้าใจผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทเป็นอย่างดี

3.การจ่ายค่าตอบแทน และมาตรการลงทุนไม่ผลักดันให้เกิดการขายที่ไม่เหมาะสม โดยเกณฑ์ใหม่ให้เน้นการให้ผลตอบแทนโดยอิงคุณภาพการขายมากขึ้น ไม่ใช่การวัด KPI จากจำนวนการขาย หรือมูลค่าการขายเหมือนในอดีต

4. กระบวนการขายให้ข้อมูลครบถ้วน ชัดเจน ไม่บิดเบือน และไม่รบกวนลูกค้า โดยสถาบันการเงินต้องมีระบบที่สามารถลิตส์ข้อมูลของลูกค้า หากลูกค้าไม่ยินดีรับสายและห้ามโทร ระบบแบงก์ในอนาคต ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการโทรซับซ้อน รวมไปถึงห้ามขาย หรือเปิดเผยข้อมุลลูกค้าหากไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งต่อไปสถาบันการเงินต้องสามารถอธิบายให้กับประชาชนให้ได้ ว่า ได้รับข้อมูลลูกค้ามาจากแหล่งใด รวมไปถึงการตอบข้อมูลครบถ้วน มีทั้งข้อดีข้อเสีย ไม่ใช่เน้นแต่ข้อดีของผลิตภัณฑ์เพียงด้านเดียว

5.การสื่อสารและให้ความรู้พนักงานด้าน Market conduct ทั่วถึง โดยสถาบันการเงินต้องสื่อสารให้พนักงานที่วประเทศ ทั้งระบบเพื่อให้เข้าใจผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ในการให้บริการทางการเงินในอนาคต

6.การดูแลข้อมูลลูกค้ามีความปลอดภัยและคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว เช่นสถาบันการเงินต้องมีระบบที่รัดกุมในการรักษาและดูแลข้อมูลลูกค้า เป็นต้น

7..การดูแลข้อมูลหลังการขายมีความเป็นธรรม ทุกสถาบันการเงินต้องมีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน หรือให้ความรู้กับประชาชนโดยตรงด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

8.การควบคุม กำกับ และตรวจสอบมีความรัดกุม 9.ระบบการปกฺบัติงานและแผนฉุกเฉินมีประสิทธิภาพ ให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เช่นมีคู่มือการปฏิบัติ มีระบบบันทึกเหตุการณ์การทำธุรกรรมที่ใช้งานได้จริง เป็นต้น .

นางฤชุกร สิริโยธิน. รองผู้ว่าการ. ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ที่ผ่านมา จากการเข้าไปสุ่มตรวจสถาบันการเงิน พบว่า ข้อร้องเรียนที่พบมากที่สุด ยังคงเป็นการบังคับขายประกันของพนักงานธนาคาร ดังนั้นเกณฑ์ใหม่นี้ ก็ออกมาเพื่อให้แบงก์ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ธปท.วางไว้ ซึ่งหากพบว่า พนักงานธนาคารผิดเงื่อนไขที่วางไว้ จะมีการคิดเบี้ยปรับตามความผิด ซึ่งเบี้ยปรับสูงสุดอยู่ที่ 1 ล้านบาท หรือท้ายที่สุดหากพบว่ามีการพบพฤติกรรมการทำผิดซ้ำๆ ก็อาจนำไปสู่การยกเลิกการให้แบงก์ทำธุรกรรมดังกล่าวโดยทันที

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า การให้บริการทางการเงิน ตามเกณฑ์ใหม่ของธปท.นั้น อนาคตแบงก์ต้องมีการให้ข้อมูลลูกค้าอย่างครบถ้วน ทั้งข้อดี ข้อเสียทุกด้าน และมีข้อมูลเปรียบเทียบกับแบงก์อื่นๆเพื่อให้ประชาชนได้มีข้อมูลตัดสินใจ

ซึ่งล่าสุด ธปท.ได้มีการปรับปรุงเว็ปไซค์ของธปท. เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลทางการเงินกับประชาชาโดยเฉพาะ เพื่อให้ใช้เปรียบเทียบข้อมูลทางการเงิน ดอกเบี้ย สินเชื่อ เบี้ยปรับต่างๆของทุกธนาคารในเว็ปธปท. ซึ่งมีทั้งหมด 8 ผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มแรก ที่ข้อมูลเงินฝากก่อน และต่อไปจะมีข้อมูลเปรียบเทียบของ บัตรเครดิต บัตรเดบิต ประกัน สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่นซื้อ เข้ามาให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูล


ส่วนในเรื่องการเปรียบเทียบปรับ หากสถาบันการเงินทำผิดจากเกณฑ์ที่ธปท.วางไว้ ธปท.จะมีการมีการนำข้อมูลการเปรียบเทียบปรับสถาบันการเงินโชว์บนหน้าเว็ปธปท.ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูล ว่าแบงก์ไหน เคยทำผิดตามเกณฑ์หรือไม่ เพื่อไว้ใช้ตัดสินใจในการซื้อ หรือขอสินเชื่อกับแบงก์ต่างๆในอนาคต