ttb ปักหมุด 3 ปี พอร์ตบัตรเครดิต-พีโลนแตะแสนล้าน ขึ้นแท่น 1 ใน 4 ของตลาด

TTB

ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี ปักธง 3 ปีดันพอร์ตธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลติด 1 ใน 4 ของตลาดพอร์ตแต่กว่า 1 แสนล้านบาท หลังสัญญาณการใช้จ่ายทยอยฟื้นตัว เปิดกลยุทธ์เจาะ 3 กลุ่มลูกค้า “เพย์โรล-บ้าน-รถยนต์” สร้าง Ecosystem ด้านหนี้เสียทรงตัว 1% พร้อมปรับโมเดลสกอริ่งหนุนยอดอนุมัติสินเชื่อ

วันที่ 25 สิงหาคม 2565 นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบมีการเติบโตทุกปีแม้ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ แต่จะเห็นว่าในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจมีการเติบโตติดลบ อย่างไรก็ดี ในปีนี้สัญญาณการใช้จ่ายเริ่มกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น ซึ่งเห็นจากการค้นหาคำ “สินเชื่อเงินด่วน” เพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า สะท้อนความต้องการสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วง 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมามีความต้องการสินเชื่อค่อนข้างสูง

ฐากร ปิยะพันธ์
ฐากร ปิยะพันธ์

โดยตัวเลขบัตรเครดิตทั้งระบบอยู่ที่ 25 ล้านใบ ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อยู่ที่ 8.7 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบอยู่ที่ 15.4 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 5.63 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 7%

สำหรับในส่วนของทีทีบี คอนซูมเมอร์ หลังจากนี้จะเร่งเครื่องธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 จะขึ้นเป็นผู้นำ 1 ใน 4 ของตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ภายใต้พอร์ตสินเชื่อคงค้างมากกว่า 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันทีทีบี คอนซูมเมอร์อยู่ในอันดับ 6-7 ของตลาด จากฐานลูกค้าที่มีอยู่ 1.2 ล้านใบ

ซึ่งกลยุทธ์ในการเติบโตจะเน้นใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี และดิจิทัลในการขยายการเติบโต รวมถึงการขยายพันธมิตรธุรกิจผ่านการสร้าง Ecosystem ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มเดินบัญชีเงินเดือน (Payroll) 2.ฐานลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย และ 3.ลูกค้าเช่าซื้อรถยนต์ โดยทั้ง 3 กลุ่มจะเป็นกลุ่มในชีวิตประจำวัน จึงมีโอกาสในการเติบโต โดยจะใช้ข้อมูลและการออกแบบแคมเปญและร้านค้าที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น

“เป้าหมายเราต้องไปขึ้นไปอยู่ 1 ใน 4 ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพราะตอนนี้หากดูการใช้จ่ายของเรายังน้อยกว่าระบบ ซึ่งเราเห็นโอกาสในกลุ่มลูกค้าบัตรใหม่และฐานลูกค้าเดิม ซึ่งตอนนี้เรามีฐานลูกค้ารายย่อย 10 ล้านราย มีแอ็กทีฟประมาณ 6 ล้านราย แต่ในจำนวนดังกล่าวยังไม่ได้ถือบัตร โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ที่มีกว่าล้านราย และบ้านอีก 2 แสนราย ซึ่งเราจะทำแคมเปญ Cross selling กลุ่มเหล่านี้ และเพิ่มยอดการใช้จ่ายจากปัจจุบันอยู่ที่ 7% เป็น 12-13% ของทั้งระบบ แต่การจะเป็นผู้นำตามเป้าหมาย โปรแกรมจะต้องตอบโจทย์ลูกค้าด้วย”

นายฐากรกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการจัดตั้งบริษัท ทีทีบี คอนซูมเมอร์ เพื่อแยกพอร์ตธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลออกจากพอร์ตธนาคารนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 2 ปี เนื่องจากจะต้องมีการเตรียมทีมงาน การวางระบบงานให้มีประสิทธิภาพ การวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงจะต้องดูเรื่องของแพลตฟอร์มโมบายแบงกิ้งด้วย จึงต้องใช้เวลาในการปรับพื้นฐานก่อน

นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารทหารไทยธนชาต และกรรมการผู้จัดการ ทีทีบี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ภายใต้ “ทีทีบี คอนซูมเมอร์” ประกอบด้วย บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และบัตรกดเงินสด

จเร เจียรธนะกานนท์
จเร เจียรธนะกานนท์

โดยเป้าหมายในปีนี้ตั้งเป้าบัตรเครดิตใหม่อยู่ที่ 2.5 แสนใบ ส่งผลให้ฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 1.4 ล้านใบ ตั้งเป้าใช้จ่ายผ่านบัตร 1.2 แสนล้านบาท เติบโต 53% สูงกว่าตลาดที่ขยายตัว 10% ยอดคงค้าง 3.7 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกมียอดใช้จ่ายแล้ว 4.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 29% ยอดคงค้างอยู่ที่ 2.7 หมื่นบ้านบาท ฐานบัตร 1.2 ล้านใบ

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคล ตั้งเป้าทั้งปีมีลูกค้าใหม่ 1.7 แสนราย เติบโต 270% จากปีก่อน เป็นลูกค้าสินเชื่อบุคคลทั้งหมด 5.5 แสนราย เพิ่มขึ้น 45% จากปีก่อน คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อใหม่ 2.6 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 86% และมีเป้าหมายยอดคงค้างอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท จากในช่วงครึ่งปีแรกมีลูกค้าใหม่ 7.3 หมื่นใบ ยอดสินเชื่อใหม่ 9,500 ล้านบาท เติบโต 44% และมียอดคงค้างอยู่ที่ 2.95 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มองว่าลูกค้าเริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น โดยกลยุทธ์การเติบโตไปสู่เป้าหมาย 1 ใน 4 ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น จะเพิ่มบริการฟีเจอร์บนโมบายแอปพลิเคชั่น “ttb touch” ทั้งการสมัครบัตรใหม่ การกำหนดวงเงิน การทำโปรแกรมผ่อนชำระ 0% นาน 3 เดือน รวมถึงการขยายไปสู่การปล่อยสินเชื่อ Digital Lending

นอกจากนี้ การขยายความร่วมมือกับพันธมิตรการเพิ่มร้านค้าจากปัจจุบันมีอยู่กว่า 1,000 ร้านค้า ตั้งเป้าภายในปี 2566 จะเพิ่มร้านค้าเป็น 5,000 ร้านค้า และร้านค้าร่วมโปรแกรมผ่อนชำระ 0% เพิ่มเป็น 3,000 ร้านค้า ตลอดจนการขยายพันธมิตรแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อรองรับการสร้าง Ecosystem ขยาย 3 กลุ่มลูกค้า ในส่วนของลูกค้า payroll กลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้าน และเช่าซื้อรถยนต์ โดยผ่านการใช้ดาต้าสร้างโมเดลธุรกิจ เพื่อเสนอกลุ่มลูกค้าที่ใช่ ช่องทางที่ถูกต้อง

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันบัตรเครดิตอยู่ที่ 1% ต่ำกว่าระบบที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1.7% และสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.7% ต่ำกว่าระบบที่อยู่ 3.5% ทั้งนี้ แนวโน้มใน 12 เดือนข้างหน้าเอ็นพีแอลคงทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าว เพราะพอร์ตขยายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารอยู่ระหว่างการปรับโมเดล และเครดิตสกอริ่ง โดยใช้ข้อมูลทางด้านอื่น เช่น เงินฝาก หรือการใช้บัตรเครดิต ควบคู่กับการดูประวัติในเครดิตบูโร เพื่อให้สามารถอนุมัติสินเชื่อหรือการปรับวงเงินดีขึ้น โดยปัจจุบันยอดการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) เฉลี่ยอยู่กว่า 40% และหากเป็นฐานลูกค้าเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70%

“เรายังคงโฟกัสกลุ่มลูกค้าระดับรายได้ปานกลาง หรือกลุ่มต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท เช่นเดียวกับสินเชื่อบุคคล อย่างไรก็ดี เราจะมีการใช้ดาต้าเพื่อเรียนรู้ลูกค้ามากขึ้น และในเร็ว ๆ นี้เราจะมีการออกบัตรเครดิตบัตรกลุ่ม Wealth แต่อาจจะไม่ใช้ลูกค้าเงินฝากกับเราก็ได้ รวมถึงการต่อยอดไปสู่สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่จะเริ่มทำในปีหน้า เหล่านี้จะเป็นการผลักดันสู่เป้าหมาย”