SCBT ชี้สิ้นปีบาทแข็ง 31 บาท คาด”กนง.” ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งตามเฟด

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ชี้เป้าหมายสิ้นปี 2561 ค่าเงินบาทแข็งค่า 5% แตะ 31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ รับผลดีดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก จากภาคส่งออก และการท่องเที่ยวที่เติบโตดี พร้อมคาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีแรก ตามกระแสธนาคารกลางทั่วโลก

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. 2561 ถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2% ซึ่งถือเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเกิดจากเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ SCBT คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าตลอดทั้งปี โดย ณ สิ้นปี 2561 น่าจะอยู่ที่ 31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่า 5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2560

“ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่าทั้งปี ซึ่งเป็นมุมมองที่เรามองต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยปลายปี 2560 คาดการณ์ว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไตรมาส 1/2561 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปี 2561 คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ” นายทิมกล่าว

ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นผลจากการที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจลงทุนในไทยมากขึ้น หลังจากที่ไม่ได้ลงทุนในไทยมาหลายปี อย่างไรก็ตาม จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปี 2560 กว่า 10% ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการในไทยเริ่มหันมาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ด้านนโยบายการเงิน ทางธนาคารคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ภายในช่วงครึ่งปีหลัง จากปัจจุบันที่ระดับ 1.5% เพิ่มขึ้นเป็น 2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ ปัจจัยด้านแรงกดดันจากธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และมาเลเซีย

ปัจจัยด้านเสถียรภาพทางการเงิน เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ จะกดดันให้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ จนอาจส่งผลให้คนถอนเงินเพื่อไปลงทุนที่มีความเสี่ยง ทำให้กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินในที่สุด รวมถึงยังมีประเด็นด้านจีดีพีไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี และคาดว่าในปี 2561 จะเติบโตที่ 4.3%และปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งเสริมให้ กนง.ควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย


“ปีนี้เรามองว่าครึ่งปีแรก ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง จาก 1.5% เป็น 2% แล้ว ส่วนไตรมาสแรกอาจจะเห็นธนาคารกลางมาเลเซีย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน เลยน่าจะเป็นแรงกดดันให้ กนง.ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นนัก” นายทิมกล่าว