เงินบาทแกว่งตัวผันผวน จับตาทิศทางเงินทุนต่างชาติ การเมืองในประเทศ

เงินบาท-ตลาดหุ้นไทย

เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวน แต่ลดช่วงอ่อนค่าลงเล็กน้อยตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อทำกำไรในช่วงก่อนสุนทรพจน์ประธานเฟดในงานสัมมนาที่ Jackson Hole หุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ยังมีแรงหนุนจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาต่อเนื่อง จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ทิศทางเงินทุนต่างชาติ การเมืองในประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวนระหว่างรอถ้อยแถลงของประธานเฟด ทั้งนี้เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบประมาณ 3 สัปดาห์ที่ 36.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงแรกท่ามกลางทิศทางที่อ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียและเงินหยวน หลังจากธนาคารกลางจีนเพิ่มการผ่อนคลายทางการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ลงเพื่อบรรเทาแรงกดดันในตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจีนในภาพรวม

นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ขยับขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งอาจจะมากกว่า 50 bps. ในการประชุมเดือนก.ย.

เงินบาทแข็งค่าช่วงสั้นๆ ระหว่างสัปดาห์ หลังข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนส.ค. และยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด กดดันเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole

กราฟค่าเงินบาท

ในวันศุกร์ที่ 26 ส.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 ส.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 22-26 ส.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องอีก 9,349 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 6,355 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 755 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 5,600 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (29 ส.ค.-2 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.50-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินทุนต่างชาติ และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ค. ของไทย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP และ PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนส.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนก.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและอัตราเงินเฟ้อ (เบื้องต้น) เดือนส.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

กราฟตลาดหุ้นไทย

ส่วนความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาขึ้นตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้ SET Index ปรับตัวลงในช่วงแรกตามตลาดหุ้นต่างประเทศซึ่งเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หุ้นไทยดีดตัวขึ้นได้ในเวลาต่อมาตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติก่อนงาน Thailand Focus ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองในประเทศยังไม่ได้กดดันหุ้นไทยมากนัก

อย่างไรก็ดีกรอบขาขึ้นของตลาดหุ้นไทยจำกัดลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ขณะที่ตลาดรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดจากงานประชุมประจำปีที่ Jackson Hole อนึ่ง หุ้นกลุ่มที่ปรับขึ้นมากในสัปดาห์นี้ ได้แก่ กลุ่มพลังงานและกลุ่มแบงก์ (ซึ่งมีแรงหนุนจากการยกเลิกดีลซื้อกิจการบริษัทธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของแบงก์รายใหญ่แห่งหนึ่ง)

ในวันศุกร์ (26 ส.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,644.78 จุด เพิ่มขึ้น 1.16% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 71,450.31 ล้านบาท ลดลง 3.86% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.91% มาปิดที่ 642.97 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 ส.ค.-2 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,640 และ 1,605 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,690 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงประเด็นการเมืองในประเทศ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิต ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนส.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือนส.ค.ของยูโรโซน จีนและญี่ปุ่น