ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังข้อมูลของ API เผยว่าสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐปรับตัวลดลง

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่ม หลังสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 5.1 ล้านบาร์เรล โดยตัวเลขที่รายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) จะประกาศอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีนี้

+ นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการส่งสัญญาณในการโจมตีการขุดเจาะน้ำมันดิบครั้งใหม่ในประเทศไนจีเรีย หลังกลุ่มติดอาวุธในไนจีเรียพร้อมที่จะโจมตีการขุดเจาะน้ำมันดิบนอกชายฝั่งทะเล หลังจากได้โจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบในจีเรียในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา

+ ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ ยังคงมีมุมมองต่อตลาดน้ำมันดิบในเชิงบวก หลังตลาดอนุพันธ์น้ำมันดิบมีสถานะซื้อสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้น 8,693 สัญญาขึ้นไปแตะระดับ 574,152 สัญญาในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเทียบเท่ากับปริมาณน้ำมันดิบทั้งสิ้น 574 ล้านบาร์เรล

– อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คงอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2562 ซึ่งจะทำให้ระดับการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อยู่ในระดับเดียวกับการผลิตน้ำมันดิบในรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกที่ใหญ่ที่สุดได้

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศคูเวต ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันเบนซินในประเทศจีนที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นร้อยละ 4.6 ในปี 2561

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่ากับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์จากประเทศในทวีปยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ยังคงล้นตลาดอยู่ในภูมิภาค

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 60 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 66 – 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาปริมาณผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ หลังสภาพอากาศที่หนาวจัดในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบให้ผู้ผลิตลดการขุดเจาะน้ำมันดิบและหยุดดำเนินการผลิตลงชั่วคราว โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค. ปรับลดลง 290,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

จับตาปริมาณการส่งออกของอิหร่านว่าจะปรับลดลงหรือไม่ หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ รวมถึงความไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ว่าจะมีการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีการคว่ำบาตรเกิดขึ้นคาดจะส่งผลให้หลายประเทศปรับลดการซื้อน้ำมันดิบของอิหร่านและทำให้ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศทวีคูณมากขึ้น