ผู้ว่าธปท.แจงรมว.คลังเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธปท

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2560 ที่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ซึ่งนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ชี้แจงว่า ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2560 อยู่ที่ 0.66% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-4% เกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญคือการลดลงของราคาอาหารสด ไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืด และไม่ได้ส่งผลเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้น อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันมีส่วนช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมาสามารถยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางของสาธารณชนไว้ได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย

นายวิรไท กล่าวว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างมีผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่เร่งตัวขึ้นเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ อาทิ 1.กระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้การแข่งขันด้านราคามีมากขึ้น รวมทั้งทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงวัตถุดิบได้ง่ายและมีราคาถูกลง 2.การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตต่าง ๆ ซึ่งทำให้ต้นทุน
การผลิตต่ำลง 3.กระแสการทำธุรกิจในรูปแบบของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผลให้ต้นทุนการขายสินค้าและบริการลดต่ำลง รวมถึงทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคามากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจัยเชิงโครงสร้างเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก รวมถึงไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะชัดเจนขึ้นมากเป็นลำดับก็ตาม ซึ่งเป็นประเด็นที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะต้องพิจารณาต่อไปเพื่อให้การกำหนดนโยบายการเงินมีความเหมาะสมและสะท้อนการเปลี่ยนแปลงระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาด้วย

นายวิรไท กล่าวว่า กนง. ได้ตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดให้คงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับระยะปานกลาง และปี 2561 ที่ 1-4% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวเป็นระดับที่เอื้อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ กนง. ประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.1% และจะเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายในครึ่งแรกของปี 2561 โดยปัจจัยหลักมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อ ด้านอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่คาดว่าจะสูงขึ้น และราคาน้ำมันในตลาดโลกปี 2561 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และข้อตกลงขยายเวลาปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปค) และประเทศนอกกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์จะทยอยปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลดีจนกระทั่งทำให้รายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างเข้มแข็งและกระจายตัวทั่วถึงมากขึ้น โดยประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในปี 2561 จะอยู่ที่ 0.8% เทียบกับ 0.6% ในปีก่อน อย่างไรตาม กนง.ได้ประเมินถึงปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะข้างหน้า คือปัจจัยด้านอุปทาน ทั้งจากราคาอาหารสดและพลังงาน ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง แต่แนวโน้มจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อปีต่อไป เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นในปัจจุบัน ความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อการออมของภาคครัวเรือนในระยะยาวได้

 

ที่มา มติชนออนไลน์