ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเล็กน้อย หลังโอเปกคาดอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีนี้

– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด หลังจากกลุ่มโอเปกเปิดเผยรายงานประจำเดือน ม.ค. ที่ระบุว่าปริมาณน้ำมันในตลาดโลกจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มประเทศนอกโอเปกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญราว 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 58.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นอุปทานที่เพิ่มขึ้นจาก สหรัฐฯ แคนาดา และบราซิล

– นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากหินชั้นดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. จะปรับเพิ่มขึ้นราว 1.1 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 6.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการปรับขึ้นส่วนใหญ่เกือบ 70% มาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตจากแหล่ง Permian ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ

+ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับลดลงมากนัก หลังจาก EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 12 ม.ค. ปรับลดลงกว่า 6.9 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า เป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สู่ระดับ 412.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นยังคงอัตราการกลั่นในระดับสูงเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันทำความร้อนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง ปรับลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ราว 4.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 42.6 ล้านบาร์เรล

+ สถานการณ์ความไม่สงบในไนจีเรีย อาจปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังกลุ่มติดอาวุธ “Niger Delta Agengers” ในไนจีเรียออกโรงขู่ที่จะโจมตีแหล่งผลิตและท่อขนส่งน้ำมันดิบอีกครั้ง โดยตั้งเป้าไปที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบ Bonga Agbami EA และ Akpo

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากความต้องการซื้อจากศรีลังกา ประกอบกับอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น หลังจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ หลายแห่งบริเวณชายฝั่งอ่าวของสหรัฐฯ ต้องหยุดดำเนินการผลิต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นและพายุหิมะ

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังของสิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงได้รับอานิสงค์จากอุปสงค์จากศรีลังกา

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 60 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 66 – 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาการประชุมระหว่างกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกในวันที่ 21 ม.ค. นี้ หลังกลุ่มผู้ผลิตอาจหารือและพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการการปรับลดกำลังการผลิตที่มีกำหนดสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ โดยหนึ่งในบริษัทพลังงานของรัสเซียเสนอให้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นหากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ผลิตเห็นพ้องกันในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงสิ้นปี แต่จะมีการทบทวนข้อตกลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการในการประชุมโอเปกครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อประเมินผลกระทบของข้อตกลงดังกล่าวต่อราคาน้ำมันดิบ

จับตาการส่งสัญญาณในการโจมตีการขุดเจาะน้ามันดิบครั้งใหม่ในประเทศไนจีเรีย หลังกลุ่มติดอาวุธในไนจีเรียพร้อมที่จะโจมตีการขุดเจาะน้ำมันดิบนอกชายฝั่งทะเล หลังที่ก่อนหน้านี้ได้โจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องในไนจีเรียในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับจุดคุ้มทุนเฉลี่ยในการลงทุนผลิตน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันดิบจากหินชั้นดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ โดยแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สะท้อนได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่อาจปรับเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ รายสัปดาห์ ณ วันที่ 12 ม.ค. ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 10 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า สู่ระดับ 752 แท่น ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้ากว่า 30%