คลังปรับแผนดึงเอกชนร่วมทุน แก้กม.ส่งเสริม PPP/ชู 1.62 ล้านล้าน 5 ปี

บอร์ด PPP ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ใหม่ 5 ปีล้อแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 12 มูลค่าลงทุน 1.62 ล้านล้านบาท ตีกรอบ 4 กิจการต้องลงทุนแบบ PPP เท่านั้น ห้ามรัฐลงทุนเอง ขณะที่ สคร. ลุย PPP Fast Track ปี’61 จำนวน 6 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท พร้อมชง ครม.ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ.PPP ตัดเรื่องบริหารทรัพย์สินของรัฐออก หันเน้นส่งเสริม PPP อย่างแท้จริง

แหล่งข่าวจากระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) ได้ออกประกาศ เรื่อง แผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2560-2564 ลงในราชกิจจานุเบกษา โดยกำหนดใช้แทนแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558-2562 ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้แผนฉบับล่าสุด ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว

โดยแผนฉบับล่าสุดนี้มีการประมาณการมูลค่าการลงทุนที่คาดว่าจะให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนในช่วง 5 ปีไว้รวมไว้ทั้งสิ้น 1.62 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายดำเนินโครงการใน 4 กิจการ ที่เห็นสมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน หรือต้องลงทุนในแบบ PPP เท่านั้น ห้ามรัฐลงทุนเอง ได้แก่ 1) กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง 2) กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง 3) กิจการพัฒนาท่าเรือสาธารณะสำหรับขนส่งสินค้า และ 4) กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2561 มีโครงการลงทุนที่อยู่ภายใต้กระบวนการ PPP Fast Track จำนวน 6 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 613,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 128,235 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก และช่วงตะวันออก ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 220,618 ล้านบาท

3.โครงการรถไฟฟ้าสายภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 31,055 ล้านบาท 4.โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณการมูลค่าเงินลงทุนอยู่ระหว่างทำการศึกษา 5.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม – ชะอำ ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 80,600 ล้านบาท 6.โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 152,448 ล้านบาท

นายเอกนิติกล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ. PPP นั้น ล่าสุด สคร.ได้เสนอนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาเห็นชอบเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.แล้ว โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะเขียนให้ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในลักษณะ PPP รวมถึงการระบุโครงการที่จะดำเนินการ พร้อมมีการทำการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (market sounding) ก่อนที่จะดำเนินโครงการ เพื่อที่จะได้ทราบว่า แต่ละโครงการนั้นเอกชนสนใจเข้าร่วมลงทุนแค่ไหน

“การปรับปรุงกฎหมาย PPP นี้ เรานำเอาระเบียบ PPP EEC Track ที่ใช้กับการลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มาเป็นต้นแบบ ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะเป็นการส่งเสริมการลงทุน PPP อย่างแท้จริง” นายเอกนิติกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจาก สคร.กล่าวว่า ขณะนี้ รมว.คลังได้เสนอร่าง พ.ร.บ. PPP ที่แก้ไขใหม่ไปให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบ เพื่อเสนอ ครม.ต่อไปแล้ว โดยกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะตัดส่วนที่เป็นการให้เช่าทรัพย์สินของรัฐออกไป อาทิ การเช่าที่ราชพัสดุ การเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นต้น เนื่องจากเห็นว่า PPP ควรจะเน้นเรื่องบริการสาธารณะมากกว่า

“กฎหมายใหม่จะเขียนทุกอย่างให้ชัดขึ้น อย่างเช่น ก่อนจะหาเอกชนมาร่วมลงทุน หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องเคลียร์กับหน่วยงานอื่น ๆ ไว้ให้เรียบร้อยก่อน และหากจะมีการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ต้องชัดเจน รวมถึงเปิดให้รัฐบาลสามารถอุดหนุนงบประมาณได้ จากเดิมที่กฎหมายเขียนไว้ไม่ชัด” แหล่งข่าวกล่าว