ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังดัชนีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง หลังดัชนีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ขณะที่ปัจจัยในประเทศ เงินเฟ้อของไทยขยายตัว 7.86% สูงสุดในรอบ 14 ปี คาดธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมครั้งหน้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 6 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/8) ที่ระดับ 36.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/9) ที่ระดับ 36.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังจากดัชนีดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแตะระดับ 110.015 ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี หลังจากปัจจัยเรื่องปัญหาพลังงานในยุโรปและความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนเข้ามาถือดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

จึงทำให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับ 110 ก่อนที่จะปรับตัวลงหลังจากนักลงทุนจับตารอดูการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อด้านบริการที่จะมีการรายงานในคืนนี้ (6/9) ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวลงของตลาดแรงงานในสหรัฐ

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น มีการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยที่ขยายตัว 7.86% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 14 ปี ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางแห่งประเทศไทยอาจมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.35-36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/9) ที่ระดับ 0.9966/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/9) ที่ระดับ 0.9926/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากมีการรายงานว่ารัสเซียไม่สามารถเปิดส่งแก๊สท่อ Nordstream 1 ที่ปิดซ่อมไปได้ตามกำหนดการณ์เดิม คือเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จึงทำให้นักลงทุนมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจในยุโรปเนื่องจากราคาพลังงานพุ่งขึ้นสูงเกือบ 400% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จึงทำให้ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 0.9878 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

รวมถึงการรายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อด้านบริการของเยอรมนีที่แสดงถึงความกังวลและมุมมองว่าเศรษฐกิจจะย่อตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตามยังคงมีแรงเข้าซื้อค่าเงินยูโร เนื่องจากเข้าใกล้การประชุมของธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีนี้ (8/9) ซึ่งนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นอย่างน้อย 0.5% ถึง 0.75%

นอกจากนี้ประเทศอังกฤษได้มีการเลือก Liz Truss เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่และส่งสัญญาณว่าจะพยายามซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและยุโรปหลังจาก Brexit ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9926-0.9947 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9941/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/9) ที่ระดับ 140.31/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/9) ที่ระดับ 140.42/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ มีการรายงานว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลังนาย Shunichi Suzuki ออกมาแสดงความกังวลถึงความผันผวนสูงของค่าเงินเยนในช่วงเดือนนี้หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นหลังจากมีสัญญาณว่าทางธนาคารกลางของสหรัฐจะยังคงปรับดอกเบี้ยขึ้นสูงต่อเนื่องถึง 0.75%

ในขณะที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นไม่มีท่าทีว่าจะปรับเปลี่ยนจุดยืนนโยบายทางการเงิน ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะสูงกว่าเป้าหมาย 2% ก็ตาม โดยนาย Suzuki กล่าวว่า ทางรัฐบาลกำลังติดตามความผันผวนของค่าเงินเยน จึงทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจเข้ามายุ่งเกี่ยวกับค่าเงินเยน

ทั้งนี้ความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลของสองประเทศจึงทำให้ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลง ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.42-141.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.77/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อด้านบริการ (6/9), สุนทรพจน์จากนายพาเวลแห่งธนาคารกลางสหรัฐ (8/9) ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของญี่ปุ่น (8/9), รายงานการประชุมของ ECB (8/9) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (8/9), ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน (9/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.70/-6.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7/-5.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ