ดัชนีภาคบริการสหรัฐแข็งแกร่ง หนุนดอลลาร์แข็งค่า

ภาพ : pixabay

ดัชนีภาคบริการสหรัฐแข็งแกร่งหนุนดอลลาร์แข็งค่า ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 74.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 7 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/9) ที่ระดับ 36.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/9) ที่ระดับ 36.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคบริการที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในเดือน ส.ค.

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 56.9 ในเดือน ส.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 55.5 จากระดับ 56.7 ในเดือน ก.ค. โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน นักลงทุนปรับเพิ่มการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดหลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคบริการ

โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 74.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 26.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ในการประชุมประจำปีของสถาบันคาโต (Cato Institute) ในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดุลการค้าเดือน ก.ค., รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟด หรือ Beige Book และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “บทบาทนโยบายด้านการเงิน ในการกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย” โดยระบุว่า ธปท.ได้ดำเนินนโยบายด้านการเงินโดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวในช่วงหลังโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด หรือเรียกว่า Smooth Takeoff

พร้อมย้ำว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเพื่อให้กลับเข้าสู่ระดับปกตินั้น จะต้องปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงจากแรงกดดันด้านอุปทานเป็นหลัก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.65-36.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.70/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่jอนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/9) ที่ระดับ 0.9902/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (6/9) ที่ระดับ 0.9941/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ (7/9) มีรายงานตัวเลข GDP ยูโรโซนไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.6% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9877-0.9930 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9898/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่jอนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/9) ที่ระดับ 142.70/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (6/9) ที่ระดับ 141.77/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

นายโกอุชิ คาดาโอกะ อดีตกรรมการบริหารของ BOJ เชื่อว่า BOJ จะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ (Ultralow interest rates) ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ตัวเลขเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งแตะระดับ 3% ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจาก BOJ ต้องการสร้างความเชื่อมั่นว่าอุปสงค์ในประเทศแข็งแกร่งพอที่จะชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.73-144.38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.15/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของญี่ปุ่น (8/9), รายงานการประชุมของ ECB (8/9) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (8/9), ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน (9/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.60/-6.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.5/-5.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ