บาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ธปท.รอเข้าแทรกแซงหากพบพิรุธ

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (15/1) ที่ระดับ 32.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรับ 31.89/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/1) ที่ 31.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (12/1) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยยอดค้าปลีกประจำเดือน ธ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือน พ.ย. ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือน ธ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.4% นอกจากนี้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐยังตกอยู่ในความเสี่ยงถูกชัดดาวน์ภายในสัปดาห์นี้ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปิดเผยว่า สหรัฐอาจยกเลิกข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายรับคนเข้าเมืองที่จัดทำขึ้นบนความรอมชอมระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต หรือ “Beige Book” โดยระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงขยายตัวเล็กน้อยจนถึงปานกลางในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2560 จนถึงต้นปี 2561 ขณะที่แรงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเขตส่วนใหญ่รายงานว่า ค่าแรงปรับตัวเพิ่มขึ้นปานกลาง ขณะที่บางเขตรายงานว่า บริษัทเอกชนในเกือบทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมได้ปรับเพิ่มค่าแรงและตำแหน่งงาน รายงาน Beige Book ระบุหลายเขตมีการรายงานว่า การขยายตัวในด้านการผลิต การก่อสร้างและการขนส่งนั้น ส่งผลให้ต้นทุนปรับตัวขึ้นด้วย ขณะที่บริษัทเอกชนในบางเขตกล่าวว่า พวกเขาสามารถปรับขึ้นราคาขายสินค้า นอกจากนี้ บางเขตยังมีการคาดการณ์ว่าค่าแรงจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในไม่กี่เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ รายงาน Beige Book ยังระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจทั่วประเทศของสหรัฐในปี 2561 ยังคงสดใส โดยเขตส่วนใหญ่รายงานว่าตลาดแรงงานยังคงอยู่ในภาวะตึงตัวและยังสามารถเปิดรับพนักงานที่มีความสามารถในทุกภาคส่วนการเปิดเผยรายงาน Beige Book ครั้งล่าสุดนี้ มีขึ้นก่อนที่การประชุมเฟดครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 30-31 มกราคมนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ในกรอบ 1.25%-1.50% ในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากนักลงทุนที่ขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ ท่ามกลางความกังวลในการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการจะถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ทั้งนี้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายรวมถึงนายเจค็อบ ลิว อดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคงในวงกว้าง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเมืองบางประการ ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐกับจีนจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี นายลิวได้ออกมาแสดงความกังวลต่อมาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ โดยเขามองว่าเป็นมาตรการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนรวย และจะส่งผลให้สหรัฐมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงว่าการแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ เป็นผลจากดอลลาร์อ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในดอลลาร์และการแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ธปท.จะดูแลอย่างใกล้ชิดในกรณีที่เงินบาทเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในระยะนี้เป็นผลมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่า อย่างไรก็ดี ยังไม่พบว่ามีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาในไทยอย่างผิดปกติ เพียงแต่มีการพบพฤติกรรมบางอย่างที่แสดงถึงการเก็งกำไรค่าเงินโดยมีสถาบันการเงินในประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งในเรื่องนี้ ธปท.จะเร่งเข้าไปตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป นอกจากนี้ ผู้ว่า ธปท.ยังมั่นใจว่า เงินบาทที่แข็งค่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ดีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.8/2-32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ที่ระดับ (19/01) 31.83/31.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2208/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/1) ที่ ระดับ 1.2125/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงิน หลังจากเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวโดย ECB เปิดเผยในรายงานการประชุมประจำเดือน ธ.ค.ว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ ECB จะทำการทบทวนแนวทางการสื่อสารของ ECB ในต้นปีนี้ ซึ่งนายอาร์โด แฮนสัน กรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ECB อาจประกาศยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหลังจากเดือนกันยายนปีนี้ หากสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีการปรับตัวเป็นไปตามที่อีซีบีคาดการณ์ไว้ ในขณะที่้ถ้อยคำในแถลงการณ์ของการประชุมจะถูกปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อสะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) และพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ของนางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) สามารถบรรลุข้อตกลงเบื้่องต้นในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลแล้ว อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงกลางสัปดาห์จากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศสเปนที่ยังคงมีความยืดเยื้อ โดยนายมาริโอ ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปน กล่าวว่า สเปนจะใช้อำนาจเข้าปกครองโดยตรงต่อแคว้นกาตาลุญญา หากรัฐสภาคาตาลันแต่งตั้งให้ายคาร์เลส ปุกเตมองต์ อดีตผู้นำแคว้นกาตาลุญญา กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง หลังสมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุนการแยกตัวจากสเปนออกมาแสดงจุดยืนว่า พวกเขาจะลงมติให้นายปุกเตมองต์กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.2165-1.2323 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2278/1.2280 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร


สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (15/1) ที่ระดับ 110.67/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/1) ที่ระดับ 111.01/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในที่ประชุมผู้จัดการสาขาประจำภูมิภาคของ BOJ ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วประเทศมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นสู่ระดับเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากมาตรการผ่อนคลายการเงินของ BOJ ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือน พ.ย.ขยายตัวเพียง 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่นายคุโรดะกล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2% โดยได้ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวในภาคการผลิต และการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นในระยะกลางจนถึงระยะยาว อีกทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในระดับค้าส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% ในปี 2560 ซึ่งปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยได้ปัจจัยหนุนจากการพุ่งขึ้นของต้นทุนด้านพลังงาน ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.19-111.48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.74/110.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ