แนะ SMEs ไทย ปรับตัวรับทิศทางแดนมังกร

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ธนาคารกสิกรไทย

ประเทศจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของผู้ประกอบการไทย ดังนั้นทิศทางเศรษฐกิจของจีนย่อมส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจภายในประเทศจีนมีสัญญาณชะลอลง แต่การส่งออกของจีนกลับขยายตัวขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจีนใน ปี 2561 ว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 6.6 โดยมีภาคการส่งออกเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สินค้าส่งออกที่สำคัญของจีนคือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยี ซึ่งยังมีความต้องการในตลาดโลกอีกมาก

ทั้งนี้เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา จีนมีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 19 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทางการจีนจะมีมาตรการเพิ่มความสมดุลและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินด้วยการควบคุมตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งน่าจะส่งผลให้การลงทุนชะลอตัวลงไปบ้างในระยะสั้น

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นการลดขนาดอุตสาหกรรมที่ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจีน อย่างเช่น อุตสาหกรรมถ่านหิน เป็นต้น โดยคาดว่าทางการจีนจะนำผลการประชุมดังกล่าวมาใช้กำหนดทิศทางเศรษฐกิจ ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จึงน่าจะทำให้การส่งออกจากไทยไปจีนในปี 2561 มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 5 ชะลอลงมาจากปี 2560 โดยมีประเด็นที่น่าติดตามและเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยดังนี้

1.ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยไปจีน ด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด ซึ่งจะเผชิญแรงกดดันจากราคายางพาราเฉลี่ยในปี 2561 ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง รวมถึงการลดปริมาณการนำเข้าของจีนเพราะได้มีการนำเข้ามากแล้วในปีที่ผ่านมา

2.นโยบาย Made in China 2025 มีการส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ทำให้เหมืองแร่ พลังงาน และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมของจีนทยอยลดบทบาทลง และส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยที่เน้นการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าขั้นกลางเพื่อไปประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายในจีน

3.การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวหันมาเน้นการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งน่าจะทำการตลาดได้ดี ตามการบริโภคภาคครัวเรือนและการค้าปลีกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าขั้นกลางที่สามารถตอบสนองห่วงโซ่การผลิตแห่งอนาคตของจีนได้

จากทิศทางเศรษฐกิจจีนในปี 2561 ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการหาช่องทางใหม่ ๆ ในการขยายตลาดในมณฑลต่าง ๆ ของจีน การนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ รวมถึงการแสวงหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่นอกจากการพึ่งพาตลาดจีนเพียงประเทศเดียว เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน