ค่าเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี

เงินเยน ญี่ปุ่น

ค่าเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ รมว.คลังญี่ปุ่นส่งสัญญาณ ญี่ปุ่นอาจจะเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา หากเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 5-9 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (5/9) ที่ระดับ 36.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/9) ที่ระดับ 36.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 300,000 ตำแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ 526,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.5% ในเดือน ก.ค.

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน มิ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 293,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 398,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ก.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 526,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 528,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 308,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 7,000 ตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ดีดตัวขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

ตลอดทั้งสัปดาห์ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าสลับแข็งค่า ตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนปรับเพิ่มการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดหลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคบริการ

โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 74.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 26.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า การที่เฟดประกาศสงครามกับเงินเฟ้อด้วยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจอ่อนแรงลง เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยจะกดดันให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับลดการใช้จ่าย

ทางด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ที่สถาบันคาโต (Cato Institute) เมื่อช่วงค่ำวันพฤหัสบดีว่าเฟดมีความมุ่งมั่น “อย่างแรงกล้า” ในการควบคุมเงินเฟ้อ และเฟดหวังว่าการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดต้นทุนทางสังคมที่สูงเกินไป

ขณะเดียวกันนายพาวเวลล์ส่งสัญญาณว่า การยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน ส.ค.ของสหรัฐในวันอังคารที่ 13 ก.ย. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมวันที่ 2021 ก.ย.นี้

เงินเฟ้อสิงหาคมของไทยเพิ่ม 7.86%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ส.ค. 65 อยู่ที่ 107.46 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 7.86% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 65 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.05%

ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 6.14% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ส.ค. 65 อยู่ที่ 103.59 ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 3.15% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 65 จะเพิ่มขึ้น 0.09% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 2.16%

ผู้อำนวยการ สนค.ยังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดของปีนี้ไปแล้ว โดยทั้งปียังคงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 6% หรือในกรอบที่ 5.5-6.5% ต่อมาในวันจันทร์ (5/9) มีการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยที่ขยายตัว 7.86% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 14 ปี ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางแห่งประเทศไทยอาจมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป

ทั้งนี้ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.26-36.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ก๊าซพรอมของรัสเซียระงับส่งก๊าซไปยุโรป

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/9) ที่ระดับ 0.9921/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/9) ที่ระดับ 0.9995/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากก๊าซพรอม ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย ได้ประกาศระงับการส่งก๊าซไปยังยุโรปผ่านท่อส่งนอร์ด สตรีม 1 อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่า ภาวะขาดแคลนพลังงานในยุโรปและราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก๊าซพรอมได้ประกาศระงับการส่งก๊าซไปยังยุโรปผ่านท่อส่งนอร์ด สตรีม 1 อย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าพบการรั่วไหลของน้ำมันที่กังหันหลักของสถานีคอมเพรสเซอร์ปอร์โตวายาใกล้กับนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยระบุว่ากังหันดังกล่าวไม่สามารถเปิดใช้งานได้อย่างปลอดภัย หากไม่มีการซ่อมแซมรอยรั่วซึมของน้ำมัน นอกจากนี้ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อด้านบริการของเยอรมันที่แสดงถึงความกังวลและมุมมองว่าเศรษฐกิจจะย่อตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

อย่างไรก็ตามยังคงมีแรงเข้าซื้อค่าเงินยูโร เนื่องจากเข้าใกล้การประชุมของธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีนี้ (8/9) ซึ่งนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้้นดอกเบี้ยเป็นอย่างน้อย 0.5% ถึง 0.7% อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นในวันพฤหัสบดี หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสู่ระดับ 0.75% และปรับขึ้นอัตรารีไฟแนนซ์สู่ระดับ 1.25% รวมทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สู่ระดับ 1.50% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 ก.ย.

ECB ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ

นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยระบุว่า “อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงเกินไป และมีแนวโน้มอยู่สูงกว่าเป้าหมายของ ECB เป็นระยะเวลาหนึ่ง” ทั้งนี้ ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันหลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี เพื่้อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 0.9877-1.0083 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/9) ที่ระดับ 1.0100/1/1.0104 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (5/9) ที่ระดับ 140.18/20 ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/9) ที่ระดับ 140.35/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม นโยบายทางการเงินซึ่งสวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายแบบเข้มข้น ยังคงส่งผลให้เงินเยนอยู่ในทิศทางอ่อนค่าต่อไป

โดยมีการรายงานว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นาย Shunich Suzuki ออกมาแสดงความกังวลถึงความผันผวนสูงของค่าเงินเยนในช่วงเดือนนี้ หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากมีสัญญาณว่าทางธนาคารกลางของสหรัฐ จะยังคงปรับดอกเบี้ยขึ้นสูงต่อเนื่องถึง 0.7% ในขณะที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นไม่มีท่าทีว่าจะปรับเปลี่ยนจุดยืนนโยบายทางการเงินถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะสูงกว่าเป้าหมาย 2% ก็ตาม

ทั้งนี้ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นปรับตัวกว้างขึ้น

ขณะที่นายโกอุชิ คาตาโอกะ อดีตกรรมการบริหารของ BOJ เชื่อว่า BOJ จะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ (Ultralow interest rates) ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ตัวเลขเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งแตะระดับ 3% ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจาก BOJ ต้องการสร้างความเชื่อมั่นว่าอุปสงค์ในประเทศแข็งแกร่งพอที่จะชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม รมว.คลังญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่า ญี่ปุ่นอาจจะเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา หากเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องพร้อมกันเตือนว่า รัฐบาลจะใช้มาตรการที่จำเป็น เนื่องจากเงินเยนมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และเป็นการเคลื่อนไหวเพียงฝั่งเดียว (one-sided move) จนเป็นเหตุให้สกุลเงินเยนดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 24 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.13-144.98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/8) ที่ระดับ 140.28/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ