9 แบงก์ทำใจกำไรปี’60 ร่วง 3% แบกภาระสำรอง-กรุงไทยหนี้เสียแสนล้าน

9 แบงก์ไม่รวมกรุงไทย ทำใจปี’60 กำไรรวมร่วงเกือบ 3% เหลือ 1.57 แสนล้านบาท แบกภาระตั้งสำรองกระฉูด 14% พุ่งมาราว 1.5 แสนล้านบาท เผยแบงก์ตั้งสำรองมากสุด “BBL-KBANK-SCB” ด้านโบรกฯคาดกรุงไทยกำไรลดฮวบ 26% เอ็นพีแอลทะลุ 1 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานงบการเงินงวดปี 2560 ของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) 9 แห่ง ได้แก่ ไทยพาณิชย์ (SCB), กสิกรไทย (KBANK), กรุงเทพ (BBL), กรุงศรีอยุธยา (BAY), ทหารไทย (TMB), ทิสโก้ (TISCO), เกียรตินาคิน (KKP), แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHBANK) และซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ว่า ปี”60 มีกำไร 157,238 ล้านบาท ลดลง 2.89% จากปี 2559 ที่มีกำไรรวม 161,914 ล้านบาท

โดย KBANK กำไรลดวูบ 14.5% มาอยู่ที่ 34,338 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง จากฝั่งรายได้ขายประกันภัยที่ลดลง รวมถึงภาระตั้งสำรองหนี้ขึ้น 23.9% มาอยู่ที่ 41,810 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น โดยยังรักษาอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.44% ตามด้วยแบงก์ SCB ลดลง 9.4% มาอยู่ที่ 43,152 ล้านบาท แต่ยังทำกำไรได้สูงสุดในกลุ่มแบงก์ และ LHBANK ลดลง 3.4% มาอยู่ที่ 2,603 ล้านบาท

ส่วนอีก 6 แบงก์ที่เหลือ กำไรเพิ่มขึ้น BBL กำไร 33,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งรายได้ดอกเบี้ย โดย NIM อยู่ที่ 2.32% และรายได้มิใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะรายได้จากขายประกัน-กองทุน ขณะที่ BAY กำไร 23,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4%

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี”60 NPL รวมอยู่ที่ 307,235 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% จากปีก่อน นำโดย BBL มีเอ็นพีแอล 87,419 ล้านบาท หรือสัดส่วน 3.9% ของสินเชื่อรวม, KBANK 69,674 ล้านบาท หรือสัดส่วน 3.3% และ SCB 65,560 ล้านบาท หรือสัดส่วน 2.83%

ขณะที่ภาระการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยรวมอยู่ที่ 148,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.1% แบงก์ที่ตั้งสำรองสูงสุด 3 อันดับแรก คือ BBL ตั้งสำรอง 22,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.2%, KBANK สำรองอยู่ที่ 41,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.9% และ SCB สำรอง 25,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3%

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารกรุงไทย (KTB) คาดการณ์ว่าปี”60 กำไรสุทธิอยู่ที่ 23,800 ล้านบาท ลดลง 26% เนื่องจากภาระสำรองเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 41,700 ล้านบาท เอ็นพีแอลทะลุ 1 แสนล้านบาท จากปี”59 อยู่ที่ 91,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ปีที่แล้ว สินเชื่อรวมมีการเติบโต

ส่วนผลประกอบการปี’60 ของกลุ่มแบงก์ที่ออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากมีภาระตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ทั้งจากหนี้เสียและมาตรฐานบัญชีใหม่ บาเซิล 3 ซึ่งเริ่มมีบางแบงก์ทยอยตั้งสำรองเพิ่มขึ้นแล้ว ซึ่งประเมินว่าปี”60 กลุ่มแบงก์น่าจะทำกำไรได้รวม 1.5-1.6 แสนล้านบาท ลดลง 6-7%

แนวโน้มปี’61 คาดกลุ่มแบงก์จะเติบโต 8% หรือ 1.8 แสนล้านบาท เนื่องจากสำรองมีทิศทางลดลง ตามหนี้เสียที่คาดว่าจะน้อยลงในปีนี้ ทั้งมองว่าปีนี้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์จะเติบโตจากการลงทุนของภาครัฐ ทำให้มีรายได้จากค่าธรรมเนียมจากการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่