ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว หลังดัชนีราคาผู้ผลิตออกมาใกล้เคียงกับที่คาด

ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว หลังดัชนีราคาผู้ผลิตออกมาใกล้เคียงกับที่คาด เผยล่าสุด Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 36% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 1.00% ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี ดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าไปแล้วกว่า 14.6%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/9) ที่ระดับ 36.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (14/9) ที่ระดับ 36.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยลดลง 0.1% ในเดือน ส.ค.เมื่อเทียบรายเดือนสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวลง 0.4% ในเดือน ก.ค.เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 8.7% ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.8% จากระดับ 9.8% ในเดือน ก.ค.

การชะลอตัวของดัชนี PPI มีสาเหตุจากการดิ่งลงของราคาพลังงาน อย่างไรก็ตาม ทิศทางหลักของดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่า หลังนักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สูงกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวเป็นข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญตัวสุดท้าย ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 20-21 ก.ย. ล่าสุด Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 36% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% สู่ระดับ 3.25-3.50% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 64% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

สำหรับปัจจัยในประเทศ น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้น จากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นกว่าเดิมในระยะถัดไป

โดยนับแต่ต้นปีเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าไปแล้วกว่า 14.6% และเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้สกุลเงินภูมิภาค รวมทั้งเงินบาทปรับอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.62-36.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/9) ที่ระดับ 0.9975/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (14/9) ที่ระดับ 1.007/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ นายบรูโน เลอแมร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฝรั่งเศสระบุว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสจะไม่ประสบกับภาวะถดถอย แม้รัฐบาลได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสำหรับปี 2566 ทั้งนี้ นายเลอแมร์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีนิวส์ว่า รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2565 เป็น 2.7% จากเดิมที่ 2.5%

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2566 ในวันอังคาร (13 ก.ย.) สู่ระดับ 1% จากการประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 1.4% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9956-0.9994 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 09985/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/9) ที่ระดับ 143.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (14/9) ที่ระดับ 143.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ดำเนินการตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Rate Check)

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นสัญญาณล่วงหน้าที่บ่งชี้ว่าจะมีการเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราโดยตรง ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.79-743.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 143.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (15/9), ตัวเลขค่าปลีกของสหรัฐ (1/9) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (16/9)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.75/-7.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10/-8.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ