บอร์ดอีวีเคาะภาษีแบตเตอรี่ 22 ก.ย. ดึงผู้ผลิตย้ายฐาน-เฟสแรก 4 โรงงาน

ภาษีแบต

สรรพสามิตชงบอร์ดอีวี 22 ก.ย.นี้ เคาะโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ใหม่หนุนอุตสาหกรรมรถอีวี แย้มเว้นภาษีแบตรีไซเคิล คาดดึงนักลงทุนย้ายฐานการผลิตมาไทยระยะแรกอย่างน้อย 3-4 โรงงาน เผยแนวทางสนับสนุนการลงทุนผลิตแบตเตอรี่มี 3 ระดับ ชี้ค่ายรถที่นำเข้ารถอีวีมาขายตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามีเงื่อนไขต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ กรมสรรพสามิตจะเสนอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน พิจารณามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถอีวี ซึ่งจะมีทั้งมาตรการทางด้านภาษีและการให้เงินอุดหนุน

เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย มีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับการนำเข้า เพื่อจูงใจให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย

“แนวทางที่ทางกรมสรรพสามิตสรุปในเบื้องต้นนั้น จะพิจารณาให้การสนับสนุน ทั้งภาษีและเงินอุดหนุน ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีเรื่องการส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้เกิดการย้ายฐานการผลิตรถยนต์อีวีมาไทย ที่ขณะนี้ให้เงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท รวมถึงลดภาษี” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ในการพิจารณาให้เงินอุดหนุนแบตเตอรี่นั้น หลักการเบื้องต้น จะให้เงินอุดหนุนตามขนาดความจุของแบตเตอรี่ที่คิดเป็นกิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือ kWh โดยเปรียบเทียบต้นทุนนำเข้ากับต้นทุนที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้เท่าเทียมกัน สามารถแข่งขันได้

“เชื่อว่ามีผู้ประกอบการหลายรายที่อยากจะเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถอีวีในประเทศไทย หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และหากมาตรการออกมาแล้ว จะช่วยกระตุ้นให้มีโรงงานเข้ามาผลิตในประเทศอย่างน้อย 3-4 โรงงานแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การเดินหน้ามาตรการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่รถอีวีดังกล่าว จะมีส่วนที่จะไปขับเคลื่อนการเดินหน้าจัดเก็บภาษีคาร์บอนในระยะต่อไปด้วย โดยขณะนี้กรมสรรพสามิตมีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

ตาราง การลงทุนผลิตแบตฯ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้บอร์ดอีวีได้วางแนวทางการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ไว้ด้วยกัน 3 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับ pack assembly ขอรับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี และปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่

2) ระดับ module production ขอรับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนจากบีโอไอ, ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี, ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร, ลดอากรขาเข้า 90% สำหรับวัตถุดิบในการผลิตเป็นเวลา 2 ปี และปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่

และ 3) ระดับ cell production ขอรับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนจากบีโอไอ, ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี, ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร, ลดอากรขาเข้า 90% สำหรับวัตถุดิบในการผลิตเป็นเวลา 2 ปี และปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่

ทั้งนี้ ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมใช้สิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในปัจจุบันนั้น มีเงื่อนไขว่าต้องผลิตรถอีวีในประเทศ เพื่อชดเชยการนำเข้าด้วย ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในกรณีต่าง ๆ ดังนี้ 1) 1 ม.ค. 2569 ต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศระดับ cell

หรือ 2) 1 ม.ค. 2569 ต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศระดับ module และ 1 ม.ค. 2573 ต้องใช้ PCU Inverter ที่ผลิตในประเทศ และ 1 ม.ค. 2578 ต้องใช้ traction motor หรือ reduction gear หรือคอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ หรือระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) หรือระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) ที่ผลิตในประเทศ โดยเลือก 1 จาก 5 ชิ้นส่วน

หรือ 3) 1 ม.ค. 2569 ต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศระดับการประกอบ pack assembly และ 1 ม.ค. 2573 ต้องใช้ PCU Inverter ที่ผลิตในประเทศ และ 1 ม.ค. 2578 ต้องใช้ traction motor หรือ reduction gear

หรือคอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ หรือระบบ BMS หรือระบบ DCU ที่ผลิตในประเทศ โดยเลือก 2 จาก 5 ชิ้นส่วน

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2566 นั้น กรมสรรพสามิตมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ในสินค้า 6 ประเภท ซึ่ง 1 ในนั้น คือ ภาษีแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

“ภาษีแบตเตอรี่ ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 8% แต่หากปรับโครงสร้างภาษี อาจจะยกเว้นภาษีให้แบตเตอรี่ที่รีไซเคิลได้” นายเอกนิติระบุ