ผู้ว่าการ ธปท. “ไขปมร้อน” ต้นปีจอ แฉแบงก์ทำผิด-บาทแข็งต่อ-บิตคอยน์

เปิดต้นปีจอได้ไม่นาน ผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ก็นำทีม 2 ผู้บริหาร เปิดแถลงข่าวปฐมฤกษ์ท่ามกลางสื่อมวลชนหนาแน่นพร้อมกับตั้งรับตอบหลากหลายประเด็น

โดยประเด็นแถลงหลักคือ เรื่อง “การกำกับดูแลการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม” หรือ market conduct “ดร.วิรไท” กล่าวว่า การออกเกณฑ์ใหม่นี้ ถือเป็นการยกระดับการให้บริการอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เกิดผลยั่งยืนในระยะยาว โดย “มาร์เก็ตคอนดักต์” มีองค์ประกอบ 9 ด้าน ได้แก่ ด้านแรก วัฒนธรรมองค์กร และบทบาทหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องมีผู้บริหารรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างครอบคลุม ด้านที่สอง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า

ด้านที่สาม การจ่ายค่าตอบแทน ไม่ควรกำหนด KPI จากการขายผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นคุณภาพการขายด้วย ด้านที่สี่ กระบวนการขาย ต้องขายถูกกลุ่ม ด้านที่ห้า การสื่อสารและให้ความรู้พนักงาน ด้านที่หก ดูแลความลับข้อมูลลูกค้า ด้านที่เจ็ด แก้ไขและจัดการเรื่องร้องเรียน คือกระบวนการกำกับและสั่งเปรียบเทียบปรับ หากทำผิดเกิดขึ้น ด้านที่แปด ควบคุมกำกับและตรวจสอบ และเก้า แผนปฏิบัติงานทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน

“เวลาเจอข้อร้องเรียน เราสั่งการให้ดำเนินการแก้ไข แต่ลักษณะเหมือนตำรวจไล่จับผู้ร้าย เวลามีคนมาร้องเรียน ก็ไปไล่จับเป็นกรณีไป ดังนั้นเล่นแบบโปลิศจับขโมยคงไม่สามารถที่แก้ปัญหาได้ครบวงจร ดังนั้นคราวนี้ คือการออกระเบียบและประกาศ เจตนาคือเพื่อยกเรื่องการกำกับดูแลให้เกิดผลอย่างยั่งยื่นและระยะยาว” ดร.วิรไทกล่าว

แต่ทว่าหากมีสถาบันการเงิน “แหกกฎ” ก็จะต้องมี “บทลงโทษ” ตั้งแต่การตักเตือน จนถึงการเปรียบเทียบปรับสูงสุด 1 ล้านบาท หรือให้ยกเลิกการทำธุรกรรมที่ทำผิดในทันที และจะเปิดเผยข้อมูลความผิดหรือการเปรียบเทียบปรับของสถาบันการเงินรายนั้นๆ บนเว็บไซต์ ธปท.ด้วย

พร้อมกันนี้ ธปท.จะมีการรายงานข้อมูลด้านการเงิน 6 หมวด ได้แก่ เงินฝาก บัตรเครดิต บัตรเดบิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบ้าน ซึ่งจะเปรียบเทียบข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยฝาก-ดอกเบี้ย ค่าปรับ และเงื่อนไขสำคัญต่าง ๆ ของสถาบันการเงินต่าง ๆ รายงานบนหน้าเว็บไซต์ ธปท. เพื่อให้ประชาชนเข้ามาดูข้อมูลได้ทั่วถึง

นอกจากนี้ ดร.วิรไทยังได้ตอบคำถามประเด็นร้อนเพิ่มเติมด้วย ในเรื่อง “ค่าเงินบาท” ในช่วงต้นปีนี้ ได้แข็งค่าขึ้นราว 2% ซึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนที่ขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐ กดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และยังมีปัจจัยสำคัญอีกคือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากผู้ส่งออกขายเงินตราต่างประเทศออกมามาก

“ค่าเงินบาทในระยะถัดไป ยังคงแข็งค่าและผันผวนได้ต่อในปีนี้”

ผู้ว่าการ ธปท.ยังระบุด้วยว่า ได้ตรวจพบสถาบันการเงินในประเทศ มีพฤติกรรม “เก็งกำไรค่าเงิน” และเอื้อให้ลูกค้ามีการเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามเกณฑ์การป้องปรามการเก็งกำไรของ ธปท.ที่วางไว้ ดังนั้น ธปท.จึงต้องทำการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ประสงค์ให้สถาบันการเงินเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรค่าเงินบาท และหากมีใครทำผิดซ้ำอีก ธปท.จะมีเกณฑ์การลงโทษด้วย

ส่วนปัญหา “คริปโตเคอเร็นซี่” หรือสกุลเงินดิจิทัล “บิตคอยน์” ที่ปัจจุบันมีสกุลเงินบิตคอยน์เยอะขึ้น และมีคนเข้าไปลงทุนมากขึ้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า บิตคอยน์มีหลายมิติ ซึ่งการลงทุน “บิตคอยน์” เหมือนเป็นตราสารสำหรับการลงทุน ที่เป็นลักษณะ virtual assets หรือสินทรัพย์เสมือนจริง แต่จับต้องไม่ได้

พร้อมเตือนว่า “บิตคอยน์” มีความเสี่ยงด้านราคาที่ผันผวนสูง ขณะที่การเข้าไปกำกับดูแลซึ่งไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ที่จะเข้าไปกำกับดูแลเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าในมิติของการป้องกันการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะดูแลได้ดีกว่า ซึ่งในเรื่องนี้ ล่าสุด ปปง.อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินอื่น ๆ ถ้ามีการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินอื่น จะต้องสามารถพิสูจน์ตัวตน (KYC) ให้ชัดเจนได้ว่า ผู้ซื้อมาจากไหน อย่างไร

“เราไม่ต้องการให้ คริปโตเคอเร็นซี่เป็นช่องทางในการฟอกเงิน ด้านการป้องกันการฟอกเงินก็มี ปปง.ดูแลอยู่”

ส่วนกรณีบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) จะระดมทุนผ่านดิจิทัล โทเคน (Initial Coin Offering หรือ ICO) จะต้องมีการเข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ของ ธปท.หรือไม่ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับ ก.ล.ต.เพราะเป็นเรื่องการระดมทุน แต่ธปท.กำลังดูว่า วัตถุประสงค์การระดมทุนจะนำเงินไปใช้อะไร เช่น หากนำเงินส่วนนี้ไปปล่อยสินเชื่อ ก็จะเกี่ยวกับ ธปท.

ทั้งนี้ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.เจ มาร์ท (JMART) ได้รายงานว่า จะระดมทุนผ่านดิจิทัล โทเคน โดยใช้ชื่อสกุลเหรียญว่า “JFin” ซึ่งคาดจะระดมทุนจำนวน 100 ล้านโทเคน กำหนดราคา 0.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคน โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อ (presale) วันที่ 14-28 ก.พ. 2561 นี้ และเปิดขายครั้งแรก (ICO) ในวันที่ 1-31 มี.ค. 2561 โดยคาดว่าจะระดมเงินได้ 660 ล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ด้านการปล่อยสินเชื่อด้วยเทคโนโลยี blockchain สำหรับสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อของเจฟินเทค โดยยืนยันว่า การเปิดขาย “JFin” ได้หารือกับ ก.ล.ต. ในเบื้องต้นแล้ว และใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่ ก.ล.ต.จะประกาศใช้ในช่วงไตรมาสแรกนี้ โดยบริษัทได้ศึกษาการระดมทุนเทียบเคียงจากตลาดในต่างประเทศที่มีมาตรฐาน

แต่ทว่าฝั่ง ก.ล.ต.ยังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นการออกหลักเกณฑ์ ICO