รายได้ค่าฟีแบงก์พลิกบวก ครึ่งปีหลัง

ค่าฟีแบงก์พลิกบวก การออม

แบงก์รายได้ค่าธรรมเนียมฟื้น “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดครึ่งปีหลังพลิกบวก 3-6% หลังต้นปีหดตัว -2.1% เหตุกิจกรรมเศรษฐกิจฟื้น-สินเชื่อโต ประเมินทั้งปีแบงก์โกย 1.7 แสนล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยขาขึ้นหนุนรายได้ปีหน้า เหตุปีนี้แบงก์ชะลอขึ้นดอกเบี้ย

ขณะที่ ธปท.ชี้รายได้ดอกเบี้ยฟื้นตามสินเชื่อที่เติบโตดีขึ้น ฟาก “ทิสโก้” หวังรายได้ค่าฟีอิงสินเชื่อทดแทนรายได้ค่าฟีโปรดักต์การลงทุนที่ชะลอตัว

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น

โดยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเห็นการพลิกกลับมาเป็นบวกได้ หลังจากในช่วงครึ่งปีแรกหดตัว -2.1% หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 8.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทั้งปีคาดว่าจะเติบโตในกรอบ 0.5-2% หรือราว 1.75-1.77 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.74 แสนล้านบาทจากปีก่อน

“ภาพทั้งปี ยังเป็นการเติบโตค่อนข้างจำกัด ส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีจำกัดและอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัว โดยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมน่าจะขยายตัวบวกได้ที่ระดับ 3-6% ดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

และเป็นฤดูกาลการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมบางกลุ่ม เช่น บัตรเครดิต จากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร (spending) ที่ฟื้นตัวตามการท่องเที่ยว หรือค่าธรรมเนียมบริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน รวมถึงรายได้จากธุรกิจนายหน้าเริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากช่วงครึ่งปีแรก ตลาดเงินตลาดทุนค่อนข้างผันผวน”

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยทยอยปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของสินเชื่อ โดยในระยะหลังธนาคารเริ่มหันมาเน้นสินเชื่อกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูง (high yield) เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโตได้ดี และจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจะเห็นชัดเจนในปี 2566 เนื่องจากปีนี้ธนาคารชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้ปรับขึ้นล้อไปกับดอกเบี้ยนโยบาย

“หากมีการขยับดอกเบี้ยตระกูล M ทั้งหลาย จะเป็นอานิสงส์มาช่วยหนุนดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ NIM จะชัดเจนขึ้น แต่อานิสงส์นี้จะไปเห็นชัดในปีหน้า” นางสาวกาญจนากล่าว

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2565 จะพบว่า กำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้น 7.2% ช่วงเดียวกันปีก่อน

ซึ่งมาจากความต้องการสินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิดีขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายในส่วนของการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญปรับลดลง จากก่อนหน้าที่ตั้งอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ เมื่อมองไประยะข้างหน้า โดยปกติหากความต้องการสินเชื่อขยายตัวมากขึ้น จะส่งผลต่อรายได้ดอกเบี้ยขยับเพิ่มขึ้นด้วย เช่นเดียวกับรายได้ค่าธรรมเนียม จะขึ้นอยู่กับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) หากตลาดมีแนวโน้มที่ดีขึ้น รายได้ในส่วนนี้ก็จะขยายตัวสอดคล้องกับภาวะตลาด

“เราคงประเมินไม่ได้ว่าจะเติบโตเท่าไร แต่โดยปกติรายได้ดอกเบี้ยจะเติบโตมากน้อย จะขึ้นอยู่กับฐานเงินกู้ ส่วนดอกเบี้ยขาขึ้น ยอมรับว่ามันก็เกี่ยว แต่เวลามันขึ้นมันก็ต้องขึ้น 2 ขา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแบงก์ว่าจะปรับขึ้นอย่างไร” นางสาวสุวรรณีกล่าว

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า จากความต้องการสินเชื่อที่น่าจะดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อสินเชื่อกลับมาเติบโตได้ รายได้ค่าธรรมเนียมที่อิงกับสินเชื่อ ก็น่าจะปรับตัวสูงขึ้นด้วย

และน่าจะมาช่วยชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมจากผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ชะลอตัวจากภาวะตลาดที่มีความผันผวนจากนโยบายการเงินของสหรัฐ

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมา 0.25% จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมไม่ได้มีการปรับขึ้น เพื่อดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากภาระต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น จึงยังไม่ได้มีผลในส่วนนี้ ซึ่งต้องรอติดตามการประชุม กนง. ในวันที่ 28 กันยายน 2565 อีกครั้ง

“รายได้ที่ relate กับสินเชื่อน่าจะดีขึ้นตามสินเชื่อที่โตได้อ่อน ๆ จากปีก่อน แต่รายได้ค่าธรรมเนียมในเชิง capital market ลดลงตามสถานการณ์โลกที่ผันผวน ซึ่งสองส่วนนี้น่าจะ offset กันได้ แต่หลังจากไตรมาส 4 เชื่อว่ารายได้น่าจะเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ที่ทยอยเข้าสู่ภาวะปกติได้ ซึ่งเราก็พยายามบริหารต้นทุนทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรให้เป็นไปตามเป้าหมาย” นายศักดิ์ชัยกล่าว