เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 และส่งสัญญาณจะขึ้นอีก 1.25% ในปีนี้

ภาพ : pixabay

ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน และส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอีก 1.25% ในการประชุมอีก 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ขณะที่นักลงทุนกังวลท่าทีรัสเซียสั่งระดมกำลังพลครั้งใหม่ ส่วนเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยก่อนปิดตลาดที่ระดับ 37.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 19-23 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (19/9) ที่ระดับ 36.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/9) ที่ระดับ 36.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.5 ในเดือน ก.ย. จากระดับ 58.6 ในเดือน ส.ค.แต่ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 60.0

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 4.6% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 4.8% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.8% โดยต่ำกว่าระดับ 2.9% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564

อย่างไรก็ตามดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 20 ปีในวันพุธ (21/9) เนื่องจากนักลงทุนกังวลกับถ้อยแถลงของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย โดย ปธน.ปูตินได้ประกาศระดมพลเป็นครั้งแรกในรัสเซียนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และเขาประกาศเตือนชาติตะวันตกว่า ถ้าหากชาติตะวันตกยังคง “แบล็คเมลเรื่องนิวเคลียร์” ต่อไป รัฐบาลรัสเซียก็จะตอบโต้โดยใช้กำลังจากคลังแสงทั้งหมดของรัสเซีย

เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ

นอกจากนี้ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน โดยปรับกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ 3.00-3.25% ในวันพุธ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 โดยการปรับขึ้นในครั้งนี้ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากเจ้าหน้าที่เฟด และเฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่อีกในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป

ทั้งนี้ รายงานคาดการณ์ฉบับใหม่ของเฟดระบุว่า กรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดมีแนวโน้มพุ่งขึ้นสู่ 4.25-4.50% ก่อนสิ้นปีนี้ และจะอยู่ที่ 4.50-4.75% ในช่วงปลายปี 2023 ก่อนจะปรับลดลงสู่ 3.75-4.00% ในช่วงปลายปี 2024 และ 2.75-3.00% ในช่วงปลายปี 2025 โดยก่อนหน้านี้เฟดเคยคาดการณ์ในเดือน มิ.ย.ว่า อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับเพียง 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ และ 3.8% ในช่วงสิ้นปีหน้า

การที่เฟดคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ย federal funds จะอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% ในช่วงปลายปีนี้ ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมกัน 1.25% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้

ทั้งนี้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดแสดงให้เห็นว่าเฟดมี “ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า” ในการทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงจากจุดสูงสุดรอบ 40 ปี และเจ้าหน้าที่เฟดจะ “ทำแบบนี้ต่อไปจนกว่างานจะเสร็จ” ถึงแม้การทำแบบนี้จะส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับสูงขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะงักงันก็ตาม และเขาระบุอีกด้วยว่า “เราจำเป็นจะต้องทำให้ภาวะเงินเฟ้อสิ้นสุดลง”

นอกจากนี้ เขายังกล่าวเสริมว่า ไม่มีหนทางที่ปราศจากความยากลำบากในการทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง นายพาวเวลล์ระบุว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐจำเป็นจะต้องปรับฐาน ในขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเขากล่าวเสริมว่า “ตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐอยู่ในภาวะร้อนแรง และมีความไม่สมดุลเป็นอย่างมาก เราจำเป็นจะต้องทำให้อุปทานและอุปสงค์อยู่ในภาวะสมดุลกันมากกว่านี้ ตลาดที่อยู่อาศัยอาจจำเป็นต้องปรับฐานเพื่อจะได้กลับสู่ภาวะดังกล่าว”

โฆษกรัฐบาลแจง ไม่พบสัญญาณเคลื่อนย้ายเงินทุนผิดปกติ

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศปรับลลดลง เป็นผลมาจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ พร้อมเน้นย้ำไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และระดับเงินสำรองฯ เมื่อเทียบต่อ GDP ยังสูงกว่าหลายประเทศ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลงจาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดั 2.4 แสนล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากการตีมูลค่าเงินสำรองฯที่อยู่ในสินทรัพย์หลายสกุลเงินให้เป็นสกุลดอลลาร์ โดยเงินสกุลดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้สินทรัพย์สกุลอื่น ๆ เมื่อตีมูลค่าเป็นรูปดอลลาร์มีมูลค่าลดลง ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้นจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และเป็นเหตุการณ์ปกติในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนสูง มูลค่าเงินสำรองฯก็จะผันผวนสูงขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังยืนยันว่าไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และประเทศไทยยังมีฐานทางการเงินที่ดี จากระดับเงินสำรองฯ ที่อยู่ประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีเงินสำรองฯ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเมื่อเทียบเงินสำรองฯ ต่อ GDP จะคิดเป็น 48% ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รวมถึงยังสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยถึงเกือบ 3 เท่า

คลังนัดถกแบงก์ชาติ แก้ปมเงินบาทอ่อนค่า

นอกจากนี้หลังจากที่ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจนอ่านค่าสุดนับตั้งแต่ ต.ค. 2549 ในวันพฤหัสบดี (22/9) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังเปิดเผยว่า เตรียมนัดหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับปัญหาเงินบาทอ่อนลงอย่างมากว่าเกิดจากปัจจัยเรื่องใดเป็นหลัก

พร้อมทั้งประเมินว่าสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าลงมากในขณะนี้ ส่งผลกระทบในด้านใด อย่างไร แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะนัดกันได้เมื่อใด ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.75-37.44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (19/9) ที่ระดับ 1.0007/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/9) ที่ระดับ 0.9977/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า การดำเนินการของ ECB อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ ECB จะให้ความสำคัญสูงสุดต่อการรักษาเสถียรภาพของราคา

นางลาการ์ดระบุว่า ในการกำหนดนโยบายการเงิน ECB จะต้องพิจารณาทุกองค์ประกอบที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตลาดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวตามการเคลื่อนไหวของดอลลาร์ ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 0.9768-1.0050 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/9) ที่ระดับ 0.9790/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

เงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 24  ปี

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (19/9) ที่ระดับ 143.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/9) ที่ระดับ 143.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อสำคัญของญี่ปุ่น ขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 8 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2557 และอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ระดับ 2% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ข้อมูลดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ อันเนื่องมาจากการพุ่งขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและเงินเยนที่อ่อนค่าลงเป็นวงกว้าง กดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องไปแตะจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 24 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าในวันพฤหัสบดี (22/9) หลังจากทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อหนุนค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998 โดยนายมาซาโตะ คันตะ รมช.คลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศกล่าวว่า ญี่ปุ่นยังไม่ได้เข้าแทรกแซงในตลาดเงิน แต่ก็มีความเป็นไปได้แน่นอนที่เข้าแทรกแซงเมื่อถึงคราวจำเป็น

โดยในวันพฤหัสบดีธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไปในวันพฤหัสบดี และคงการชี้แนะนโยบายเชิงผ่อนคลายต่อไป โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า บีโอเจยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและยังไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวโน้มทิศทางนโยบายการเงินแบบสายพิราบในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.34-145.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/9) ที่ระดับ 142.22-25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ