คลังชงเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 อัตรา สินค้าฟุ่มเฟือยจ่ายมากกว่า 7%

คลังชงเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 อัตรา สินค้าฟุ่มเฟือยจ่ายมากกว่า 7%

กระทรวงการคลังเสนอแนวคิดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 อัตรา ชี้สินค้าทั่วไปยังเก็บอัตราปกติ ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือย “ยาสูบ-สุรา-ของแบรนด์เนม” จัดเก็บอัตราสูงกว่า 7% คาดสร้างรายได้เข้ารัฐกว่าแสนล้านบาท

วันที่ 26 กันยายน 2565 แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เคยศึกษาแนวคิดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในระบบ 2 อัตรา คือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราปกติที่ 7% สำหรับสินค้าทั่วไป และจัดเก็บอัตราสูงกว่า 7% สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย

เพื่อไม่ให้การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ และจะเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐกว่า 1 แสนล้านบาทด้วย โดยปัจจุบันก็มีบางประเทศนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มสองอัตรามาใช้เช่นเดียวกัน

“แนวคิดดังกล่าว จะทำให้การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งบริโภคสินค้าที่จำเป็นในชีวิต เพราะอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มยังอยู่ในอัตราเดิมที่ 7% แต่สำหรับสินค้าบางชนิด ที่ไม่จำเป็นหรือจัดอยู่ในสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สุรา ยาสูบ ของแบรนด์เนม จะเก็บในอัตราที่สูงกว่าปกติ ซึ่งตามเพดานในกฎหมาย กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 10%”

ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคสินค้าภายในประเทศและสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 2535 และที่ผ่านมากระทรวงการคลัง มีข้อเสนอที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย และฝ่ายการเมืองไม่ให้การสนับสนุน เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อประชาชน

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีของประเทศหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับลดภาษี ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ทำให้อัตราสูงสุดตามโครงสร้างลดลงเหลือ 35% จากเดิม 37% และปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 30% ลงเหลือ 20% ส่วนการปรับขึ้นภาษีทำได้ค่อนข้างยากโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม

“ที่ผ่านมามีการปรับลดอัตราภาษีมาโดยตลอด ขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ที่ทำให้รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ รวมเป็น 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องขยายเพดานของการก่อหนี้สาธารณะ เป็นไม่เกิน 70% จากเดิมอยู่ที่ไม่เกิน 60% เพื่อรองรับการขยายตัวของภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น”

ขณะเดียวกัน ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภค ถือว่าเป็นระบบภาษีที่มีความเป็นธรรมและไม่ซ้ำซ้อน โดยเก็บในอัตรา 7% สำหรับทุกสินค้าที่มีการบริโภค ยกเว้นบางสินค้า ที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มคือผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน และรวมถึงผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย แต่มีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ กรมสรรพากรถือว่าเป็นกรมจัดเก็บภาษีที่สำคัญของรัฐบาล และทำรายได้เข้ารัฐบาลมากที่สุด โดยปีงบประมาณที่แล้วกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีให้รัฐบาลรวม 1.87 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบ 80% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีได้แล้ว 1.67 ล้านล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 7.66 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 18.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 17.3% โดยรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็นสัดส่วนราว 45% ของรายได้ทั้งหมดของกรมสรรพากร