บัญชีกลางจ่อชง ครม.เรียกเงินทุนหมุนเวียนปีงบ’65 เข้าแผ่นดิน 1.4 หมื่นล้าน

กรมบัญชีกลาง

บัญชีกลางจ่อชง ครม.เรียกเงินทุนหมุนเวียนปีงบ ’65 เข้าแผ่นดินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ชี้กองทุนอนุรักษ์พลังงานเป็นแห่งแรก พร้อมยกเลิก 2 กองทุน

วันที่ 30 กันยายน 2565 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 กรมได้เรียกทุนหมุนเวียนนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินส่งคลัง เพื่อเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 1 กองทุน คือกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เป็นเงินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท และยังมีการพิจารณาเรียกผลกำไรส่วนเกินจากอีกหลายทุนหมุนเวียน ซึ่งเม็ดเงินที่ได้จะนำเข้าเป็นรายได้แผ่นดินในปีงบประมาณ 2566

ขณะเดียวกัน ก็มีทุนหมุนเวียนที่มีการยุบเลิก 2 กองทุนคือ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนากฎหมาย และกองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ

ทั้งนี้ การเรียกทุนหมุนเวียนนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินในปีบัญชี 2565 ได้ดำเนินการตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายบริหารทุนหมุนเวียน เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณา การขอกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุดเพิ่มขึ้นตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาการกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุดและการนำทุน หรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน พ.ศ. 2561 และอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ดี หากนับย้อนหลัง 5 ปี หรือนับตั้งแต่กฎหมายกำหนดให้ทุนหมุนเวียนได้มีการนำส่งผลกำไรส่วนเกินเข้าเป็นรายได้แผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 ปรากฏว่ามียอดเงินนำส่งดังกล่าวเกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2561 มีทุนหมุนเวียน 19 แห่งนำส่งผลกำไรส่วนเกินจำนวน 1.87 หมื่นล้านบาท ต่อมาในปี 2562 มีทุนหมุนเวียนนำส่งผลกำไรส่วนเกิน 8 แห่ง เป็นเงินจำนวนกว่า 1,650 ล้านบาท ปี 2563 มีทุนหมุนเวียนนำส่งผลกำไรส่วนเกิน 6 แห่ง เป็นเงินจำนวนกว่า 1,160 ล้านบาท ปี 2564 มีทุนหมุนเวียนนำส่งผลกำไรส่วนเกิน 7 แห่ง เป็นเงินกว่า 3,100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในแต่ละปีงบประมาณ รัฐบาลจะมีการจัดสรรเงินงบประมาณให้แก่ทุนหมุนเวียนจำนวนมาก โดยแบ่งเป็นการจัดสรรให้แก่ทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

สำหรับทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จะได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่ทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จะได้รับจัดสรรงบประมาณปีละกว่า 1 แสนล้านบาท

“ในปีงบประมาณ 2565 ทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ได้รับจัดสรรงบประมาณ 6,100 ล้านบาท และปีงบ 2566 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 7,100 ล้านบาท ส่วนทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ได้รับจัดสรรงบประมาณในปี 2565 จำนวน 1.59 แสนล้านบาท และปี 2566 ได้รับจัดสรรจำนวน 1.64 แสนล้านบาท


และหากนับย้อนหลัง 5 ปี รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่ทุนหมุนเวียนจำนวนกว่า 8.18 แสนล้านบาท โดยการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ไม่นับรวมกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจากไม่ได้เป็นทุนหมุนเวียนตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558”