
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ขณะที่แบงก์ชาติระบุว่าการอ่อนค่าของเงินบาทในระบยะนี้ไม่ได้เป็นเพราะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/10) ที่ระดับ 37.82/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/10) ที่ระดับ 38.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- เปิดค่าตอบแทน “ผู้บริหาร” ยักษ์ บจ. BBL จ่ายพันล้านต่อปี ทิ้งห่างคู่แข่ง
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (3/10) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งรวมถึงดัชนีภาคการผลิตที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุล ในตะกร้าเงิน ลดลง 0.33% แตะที่ระดับ 111.75 โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (3/10) ได้แก่ ดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ จากเอสแอนด์พี โกลบอล ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.0 ในเดือนกันยายน จากระดับ 51.5 ในเดือนสิงหาคม และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 51.8
สวนทางกับ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ที่มีการเปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.3 จากระดับ 52.8 ในเดือนสิงหาคม ดัชนีทั้งสองยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐ ยังคงมีการขยายตัว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลงเป็นเดือนที่ 3 ในเดือนสิงหาคม โดยปรับตัวลง 0.7% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในระยะนี้ มาจากปัจจัยดอลลาร์แข็งค่าเป็นหลัก โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าถึง 17-18% และย้ำว่าการที่บาทอ่อนค่าไม่ได้เป็นเพราะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุดพบว่ามีเงินไหลเข้าสุทธิราว 3.5 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทถือว่ายังเป็นการอ่อนค่าอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ดร.เศรษฐพุฒิ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง และทั่วถึงมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว และตลาดการเงินจะมีความผันผวนสูงก็ตาม โดยคาดการณ์ GDP ไทยปี 2565 จะขยายตัว 3.3% ก่อนจะปรับตัวเป็น 3.8% ในปี 2566 จากแรงส่งหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยว
โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อยู่ที่ 9.5 ล้านคน และเพิ่มเป็น 21 ล้านคนในปี 2566 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.47-37.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/10) ที่ระดับ 0.9824/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อจันทร์ (3/10) ที่ระดับ 0.9759/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สกุลเงินยูโรเริ่มแข็งค่าขึ้น แม้ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาจะต่ำกว่าคาด ได้แก่ ดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนกันยายน จากเอสแอนด์พี โกลบอล ออกมาอยู่ที่ 48.4 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ 48.5 และยังคงต่ำกว่า 50 ซึ่งแสดงถึงภาคการผลิตของยังคงหดตัว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9804-0.9895 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9869/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/10) ที่ระดับ 144.68/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/10) ที่ระดับ 145.13/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ได้รับแรงหนุนจากตลาดคาดการณ์ว่าทางการญี่ปุ่นอาจแทรกแซงเพื่อหนุนค่าเงินเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.40-144.91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.67/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนสิงหาคมของอียู (4/10), ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนสิงหาคมของสหรัฐ (4/10), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (4/10)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7/-6.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8/-6.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ