ดอลลาร์อ่อนค่า ท่ามกลางข้อมูลแรงงานที่อ่อนแอของสหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์อ่อนค่า ท่ามกลางข้อมูลแรงงานที่อ่อนแอของสหรัฐ คาดประชุมรอบหน้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ขณะที่ปัจจัยในประเทศ เงินเฟ้อของไทยเดือนกันยายนยังคงเพิ่มขึ้น โดยเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 65) อยู่ที่ 6.17% พาณิชย์ยังมั่นใจปีนี้จะอยู่ในกรอบ 5.5-6.5%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 5 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/10) ที่ระดับ 37.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/10) ที่ระดับ 37.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ประกอบกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวลดลง โดนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินลดลง 1.5% สู่ระดับ 110.069 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 3.581%

โดยสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 1.1 ล้านตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่งในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 11.1 ล้านตำแหน่ง

การปรับตัวลงของ JOLTS อาจจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอความแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของเฟด ในขณะที่นักลงทุนลดการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือน พ.ย.

โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 58.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนักสูงถึง 68.1

นอกจากนี้กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยหนี้สาธารณะสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 31 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเป็นสามเท่าตัวในช่วง 10 ปีข้างหน้า หรืออาจเร็วกว่านั้นหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็วและมากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ก.ย. 65 อยู่ที่ 107.70 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.41% และเพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 0.22% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 65) อยู่ที่ 6.17% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.ย. 65 อยู่ที่ 103.73 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.12% และเพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 0.14% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 2.26%

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี’ 65 จะอยู่ในกรอบ 5.5-6.5% (ค่ากลาง 6.0%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.19-37.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/10) ที่ระดับ 0.9971/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่ออังคาร (4/10) ที่ระดับ 0.9869/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9921-0.9994 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9927/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/10) ที่ระดับ 144.08/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/10) ที่ระดับ 144.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.53-144.55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.47/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

คืนนี้สหรัฐ จะมีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน ก.ย., ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน ส.ค. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน ก.ย. นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน ก.ย.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 265,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 315,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. และคาดว่าอัตราวางง่านเดือน ก.ย.จะทรงตัวที่ระดับ 3.7%


อัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7/-6.75 สตางค์/ดอลลาค์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.95/-6.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ