ฟิทช์คงเครดิต AIS-AWN ที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ais 3bb

ฟิทช์ ประกาศคงอันดับเครดิต AIS และบริษัทลูก AWN ที่ ‘AA+(tha)’ พร้อมแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ คาดกำไรยังแข็งแกร่ง ชี้ซื้อกิจการ “ทริปเปิลที บรอดแบนด์” ดันรายได้-หนุนสถานะทางการตลาดดีขึ้น

วันที่ 8 ตุลาคม 2565 บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และบริษัทลูก ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ของทั้งสองบริษัทที่ ‘F1+(tha)’

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของ AIS และ AWN ที่ ‘AA+(tha)’

ทั้งนี้ อันดับเครดิตของ AIS สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง จากการที่บริษัทเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่า AIS จะยังคงมีกำไรที่แข็งแกร่ง และสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และอัตราส่วนหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน ได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

โดยอันดับเครดิตของ AIS และ AWN อยู่ในระดับเดียวกัน สะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) จาก AIS แก่ AWN ในระดับสูง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ที่อยู่ในระดับสูง มาจากสัดส่วนรายได้และสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มาจาก AWN ซึ่งอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 96 และร้อยละ 76 ตามลำดับ ในปี 2564

โดยฟิทช์มองว่าโครงสร้างการบริหารและการใช้แบรนด์ร่วมกัน (Management and Brand Overlap) อยู่ในระดับสูง โดย AIS ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN ทำให้มีอำนาจควบคุมการดำเนินธุรกิจ และนโยบายด้านการเงินและการลงทุน นอกจากนี้ AWN มีการใช้แบรนด์สินค้าร่วมกันภายใต้แบรนด์ “AIS” สำหรับสินค้าและบริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และคอนเทนต์

การฟื้นตัวของรายได้

ฟิทช์คาดว่า AIS จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของสภาวะเศรษฐกิจไทย จากที่ค่อนข้างอ่อนแอในปี 2563 และ 2564 โดยคาดว่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติของไทยจะเติบโตร้อยละ 3.2 ในปี 2565 และร้อยละ 4.5 ในปี 2566 กิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวน่าจะสนับสนุนให้รายได้ของ AIS เติบโตในปี 2566 ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ AIS จะเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 2 ต่อปี ในปี 2565 และ 2566 (ครึ่งปีแรกของปี 2565 เติบโตร้อยละ 2.2)

อัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ลดลง

รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ที่ลดลง น่าจะกดดันกำไรของ AIS ในปี 2565 และ 2566 ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ AIS จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2565 และ 2566 จาก 7.6 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่น่าจะยังคงเสนอแพ็คเกจที่มีราคาถูก สำหรับผู้ใช้บริการแบบชำระเงินล่วงหน้า (Prepaid) อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2565 และ 2566

แม้ว่าจะมีการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (อันดับเคดิตภายในประเทศที่ A+(tha) เครดิตพินิจเป็นลบ (Rating Watch Negative)) ฟิทช์คาดว่าผู้ให้บริการจะพิจารณาการปรับเพิ่มราคาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อการสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

การขยายธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

ฟิทช์มองว่า การเข้าซื้อกิจการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ AIS ในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของกำไร ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในขณะที่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการเติบโตต่ำ

ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 18 หลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7 การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะทำให้สถานะทางการตลาดของ AIS ปรับตัวดีขึ้น และกลายเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่อันดับที่สองในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 35 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 15 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด ซึ่งได้แก่ TRUE

ความสามารถในการรองรับการลงทุน

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ของ AIS ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในปี 2565 และ 2566 ที่ประมาณ 0.8-0.9 เท่า (ปี 2564 อยู่ที่ 1 เท่า) ฟิทช์คาดว่า AIS จะยังคงมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวกประมาณปีละ 2-6 พันล้านบาทในปี 2565 และ 2566 เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อชำระค่าคลื่นความถี่จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2565 และ 2566 จาก 2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ฟิทช์เชื่อว่าอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการรองรับการลงทุน และค่าใช้จ่ายเพื่อจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติม ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตได้

ทั้งนี้ แผนการเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งจะใช้การกู้ยืมเงินเป็นแหล่งเงินทุน จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิของ AIS เพิ่มขึ้นประมาณ 0.4 เท่า โดยที่ยังไม่ได้พิจารณารวมกำไรจากสินทรัพย์ที่เข้าซื้อ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.3-1.4 เท่าหลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 จาก 1 เท่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.8 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต ถึงแม้ว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับอันดับเครดิตจะปรับตัวลดลง

ผู้นำตลาด

AIS เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่า AIS จะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 45-50 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 48) นอกจากนี้สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจาก ขนาดธุรกิจและฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ ชื่อเสียงทางการค้าที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด AIS ได้ขยายธุรกิจไปสู่การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยรายได้จากการให้บริการดังกล่าวมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
โดย ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 (2563 อยู่ที่ร้อยละ 12) อย่างไรก็ตามรายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงมีสัดส่วนที่ต่ำที่ประมาณร้อยละ 7.5 ของรายได้จากการให้บริการทั้งหมดของ AIS ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ AIS สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง AIS มีอันดับเครดิตสูงกว่า DTAC ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘A+(tha)’ เครดิตพินิจเป็นลบ (Rating Watch Negative) เนื่องจาก DTAC มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า มีสถานะทางการตลาดที่ด้อยกว่า และมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า AIS

อันดับเครดิตของ AIS มีความแข็งแกร่งกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์

โดย AIS และ ThaiBev มีสถานะทางธุรกิจในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นผู้นำในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ AIS มีการกระจายตัวของธุรกิจในด้านภูมิภาคที่น้อยกว่า ThaiBev แต่อันดับเครดิตภายในประเทศของ AIS อยู่ในระดับสูงกว่า ThaiBev อยู่หนึ่งอันดับเนื่องจาก AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ AIS อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื่องจาก AIS มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ปตท. มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวของธุรกิจมากกว่า AIS

โดย ปตท. เป็นผู้ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติในขั้นกลางและขั้นปลายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย และเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในธุรกิจผลิตและสำรวจปิโตรเลียม รวมทั้งยังเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ในธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทย AIS และ ปตท. มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วน Net Debt/EBITDA อยู่ที่ระดับประมาณ 1 เท่า สำหรับ AIS และ 2 เท่าสำหรับ ปตท.