“อลิอันซ์” อัพเกรดตัวแทนขายน็อนไลฟ์ผ่านแอป

“อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต” เพิ่มโปรดักต์น็อนไลฟ์ อัพเกรดตัวแทนชีวิตขายประกันผ่านแอปพลิเคชั่น “อลิอันซ์ดิสคัฟเวอร์” ยกระดับเหนือตัวแทนทั่วไป นำร่อง “อลิอันซ์ไทย” ก่อนสยายปีกสู่ตลาดอินโดฯ-มาเลเซีย-ไต้หวัน-จีน

นายไบรอัน สมิธ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต (AZAY) เปิดเผยว่า ในปี 2561 บริษัทมีแผนงานเร่งการเติบโตผ่านช่องทางตัวแทนที่เสนอขายประกันแบบดิจิทัล โดยใช้เครื่องมืออลิอันซ์ดิสคัฟเวอร์ (Allianz Discover) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ติดตั้งบนไอแพด สำหรับตัวแทนโดยเฉพาะ และเป็นการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับอลิอันซ์ในประเทศไทยเป็นแห่งแรก โดยล่าสุดบริษัทได้เพิ่มโปรดักต์ประกันวินาศภัยของบริษัทประกันในเครือเข้าแอปนี้ เพื่อช่วยให้ตัวแทนสามารถให้บริการได้ดีขึ้น

ดังนั้นจากการที่มีแอปดังกล่าว จะช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อประกันการเดินทาง ประกันรถยนต์ และบริการเสริมต่าง ๆ ได้ ซึ่งตอนนี้บริษัทมีตัวแทนกลุ่มที่มีแอปคอยให้บริการกว่า 3,000 คน โดยในจำนวนดังกล่าวแอ็กทีฟราว 2,000 คน หรือคิดเป็น 65% ของตัวแทนกลุ่มนี้ทั้งหมด คาดว่าจะขยายตัวและเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอลิอันซ์ อยุธยาฯมีตัวแทนประกันชีวิตทั้งสิ้น 12,500 คน

“สำหรับเครื่องมืออลิอันซ์ดิสคัฟเวอร์ถือเป็นเครื่องมือที่มีข้อมูลในการเสนอขายครบวงจร ตั้งแต่การค้นหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า การออกใบคำขอ การชำระเงินผ่านระบบอีเพย์เมนต์ และที่สำคัญสามารถประเมินประวัติสุขภาพลูกค้าได้ถึง 70% ว่าผ่านอนุมัติกรมธรรม์ได้หรือไม่ได้” นายไบรอันกล่าว

ทั้งนี้ อลิอันซ์ อยุธยาฯถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะเครื่องมืออลิอันซ์ดิสคัฟเวอร์ที่ถูกทดลองในไทยจะถูกนำไปใช้กับตัวแทนอลิอันซ์อีก 16 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีแผนจะเริ่มขยายออกไปในตลาด “อินโดนีเซีย” ที่มีตัวแทนกว่า 1 แสนคน และตลาดในมาเลเซีย ไต้หวัน จีน เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวแทนอลิอันซ์ทั่วโลกใช้แพลตฟอร์มเหมือนกัน นอกจากนี้ธนาคารพันธมิตรอลิอันซ์ในไทยเริ่มนำแท็บเลตไปไว้ในทุกสาขาของธนาคาร เพื่อให้การเสนอขายสะดวกรวดเร็ว สามารถทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มนี้ และอนุมัติกรมธรรม์ได้ทันทีในสาขา

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานของพนักงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการใช้หุ่นยนต์ (robotic) เข้ามาช่วยทำหน้าที่ในส่วนของงานเอกสารการเงินง่าย ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงกระบวนการสุดท้าย เพื่อให้พนักงานมีเวลาไปโฟกัสข้อมูลเชิงวิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่จะลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากเพื่อมุ่งสู่การทำงานแบบไร้กระดาษ แต่อาจจะยังไม่ได้ไปถึงขั้นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI)

“เราก็มองให้ไปถึงขั้น AI แต่อาจจะยังไม่ใช่ในปีนี้ แต่อาจจะเป็นในช่วงปี 2562 ซึ่งไม่ได้เข้ามาช่วยในส่วนของระบบหลังบ้าน แต่อาจจะเข้ามาสนับสนุนในส่วนงานของ call center เป็นหลัก” นายไบรอันกล่าว

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”