ITD คว้าประทานบัตร เหมืองแร่โพแทช อุดรธานี 2.6 หมื่นไร่ 25 ปี

เหมืองแร่โพแทชอุดร

ITD แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทลูกคว้าประทานบัตร “เหมืองแร่โพแทช” จ.อุดรธานี กว่า 2.6 หมื่นไร่ อายุประทานบัตร 25 ปี มีสิทธิต่อได้อีก 5 ปี

วันที่ 11 ตุลาคม 2565 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) (บริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นใหญ่ 90% และกระทรวงการคลังถือหุ้น 10%) ได้รับมอบประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โพแทช จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี

โดยโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี เป็นโครงการที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เชิญชวนบริษัทต่าง ๆ ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทช ซึ่งบริษัท APPC ได้รับสิทธิดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เป็นคำขอประทานบัตรจำนวน 4 แปลงของแหล่งแร่อุดรใต้ รวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ต่อมาคณะกรรมการแร่ ตามพระราชบัญญัติแร่ 2560 ได้อนุญาตประทานบัตร การทำเหมืองประเภทที่ 3 การทำเหมืองใต้ดิน ประเภทแร่โพแทช เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565

ทั้งนี้ แหล่งแร่อุดรใต้มีปริมาณสำรองแร่ทั้งหมด 85,820,781 เมตริกตัน เมื่อนำมาแต่งแร่จะได้โพแทชเซียมคลอไรด์ (KCI) รวมเป็นจำนวน 33,715,307 เมตริกตัน ในอัตราการผลิตสูงสุด 2.1 ล้านตันต่อปี โดยมีข้อผูกพันที่จะต้องขายในประเทศก่อนประมาณ 700,000 ตันต่อปี ส่วนเกินจึงจะส่งออกต่างประเทศประมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี

ระยะเวลาการอนุญาตประทานบัตร 25 ปี เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2565 โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง
ประมาณ 3 ปี ผลิตแร่โพแทช 21 ปี และปิดเหมืองประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายบริษัทสามารถขอขยายสัมปทานเพิ่มได้อีก 5 ปี

ทั้งนี้ ราคาประกาศล่าสุดของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 คือ 34,250 บาทต่อเมตริกตัน นอกจากนั้น แร่โพแทช (K เป็นแม่ปุ๋ย หนึ่งในธาตุอาหารสำคัญ (N-P-K) ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตของพืช ในปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าแม่ปุ๋ยจากต่างประเทศทั้งหมด จึงประสบปัญหาภาวะการขาดแคลนและแม่ปุ๋ยมีราคาสูงขึ้นมาก