แบงก์ชาติฮึ่มสกัดค่าบาทแข็ง “วิรไท” ยกระดับคุมเข้มแบงก์ดอดเก็งกำไร

ผู้ว่าการ ธปท.ประกาศพร้อมยกระดับดูแลค่าเงินบาท หากแข็งค่าผิดปกติ จับตาแบงก์เข้มข้น หวั่นผสมโรงทำธุรกรรมพ่วงเก็งกำไร “ประสาร” เตือนดูแลค่าเงินได้แต่อย่าฝืนทิศทางใหญ่

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐ “อ่อนค่า” อย่างรุนแรง ส่งผลให้เงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมถึงค่าเงินบาทของไทย แข็งค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ธปท.กังวลว่า หากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้

ดังนั้น ธปท.จึงได้ยกระดับการดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะยกระดับมาตรการการดูแลค่าเงินบาทเพื่อป้องปรามการเก็งกำไร หากเห็นว่าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผิดปกติหรือมีสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

พร้อมกันนี้ ธปท.ยังได้กำชับไปถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ มากขึ้น เพราะเวลาค่าเงินมีความผันผวน หรือมีการทำธุรกรรมที่หนาแน่น ก็จะมีการทำธุรกรรมเพื่อเก็งกำไร ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามหลักการและมาตรการป้องปรามค่าเงินบาท โดย ธปท.ติดตามสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด และดูแลเข้มงวดเป็นพิเศษ

“ปัญหานี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะประเทศไทย ที่ค่าเงินแข็ง ดังนั้นการติดตามค่าเงิน ธปท.ก็มีวิธีการติดตาม ซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดว่าต้องดูแลอย่างไรบ้าง” นายวิรไทกล่าว

ส่วนค่าเงินบาทถือว่าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินภูมิภาคหรือไม่นั้น ผู้ว่าการ ธปท.ไม่ตอบคำถามดังกล่าว แต่ย้ำว่า ภายใต้ความผันผวนของค่าเงิน

ในระยะข้างหน้า ทุกคนยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงค่าเงิน ซึ่งการบริหารความเสี่ยงมีหลายวิธี เช่นการตั้งราคาของผู้ประกอบการไทย หรือการหันมาใช้สกุลภูมิภาคในการค้าขาย ซึ่งก็มีผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวกันมากขึ้นแล้ว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลัก ๆ การที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าและผันผวน เพราะฝ่ายนโยบายของสหรัฐพูดสวนทางกัน ทั้งการอยากเห็นดอลลาร์อ่อนค่าและแข็งค่าในเวลาใกล้กัน ส่งผลให้ค่าเงินผันผวนทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ปัจจัยในประเทศก็มีส่วนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า เช่นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จึงหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ธปท.สามารถดูแลค่าเงินบาทได้อยู่แล้ว

“ช่วงระยะสั้น หากค่าเงินเคลื่อนไหวผิดปกติ ธปท.ก็มีเครื่องมือที่จัดการระดับหนึ่ง คือการเข้าไปซื้อสกุลเงินต่างประเทศ แต่แนวนโยบายคือ จะไม่ไปฝืนทิศทางใหญ่ แต่หากพบว่าบางช่วงบางตอน ค่าเงินเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือรวดเร็ว ผันผวนเกิน ธปท.ก็จะเข้าไปดูแลผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อไม่ให้การผันผวนก่อผลกระทบสูงจนเกินไป” นายประสารกล่าว