เกียรตินาคินเพิ่มเอาต์ซอร์ซ เจาะตรง “รายย่อย-เอสเอ็มอี”

เกียรตินาคิน ประกาศแผนปี”61 จ้าง “ทีมงานเอาต์ซอร์ซ” อีก 200 คน เสริมทัพทีมแกร่งรวม 1 พันคน เดินสายเจาะตรงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย “สินเชื่อ-บริหารเงินคนรวย” ชี้ลูกค้าไม่ค่อยเดินเข้าสาขา โล่งธนาคารมีสาขาน้อยแค่ 66 แห่ง ตั้งเป้าปีนี้สินเชื่อโต 10% เน้นปล่อยกู้ทั้งเอสเอ็มอี สินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อบ้าน พร้อมกลับมารุกสินเชื่ออสังหาฯรายใหญ่

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์อุตสาหกรรมแบงก์มีการทยอยปรับลดพนักงานลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของเกียรตินาคิน เนื่องจากขณะนี้มีพนักงานอยู่ประมาณ 5,000 คน ซึ่งจะทรงตัวอยู่ระดับนี้ แต่จะใช้วิธีการจ้างพนักงานของบริษัทข้างนอก (เอาต์ซอร์ซ) แทน โดยมีแผนจะว่าจ้างพนักงานเอาต์ซอร์ซประมาณ 200 คน จากเดิมมีอยู่แล้ว 800 คน ทำให้ปีนี้จะมีพนักงานในส่วนเอาต์ซอร์ซเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 คน เพื่อให้เข้ามาเจาะฐานลูกค้าตามกลุ่มสินเชื่อที่ธนาคารวางไว้

สาเหตุที่ธนาคารเลือกใช้พนักงานเอาต์ซอร์ซ เนื่องจากมีสาขาจำนวนไม่มากเหมือนธนาคารอื่น ๆ โดยขณะนี้มีสาขาเพียง 66 สาขา ดังนั้น จึงต้องใช้กลยุทธ์ให้พนักงานที่ไม่ใช่สาขา มาทำหน้าที่ในการช่วยหาลูกค้า

“สินเชื่อทุกอย่างเกิดขึ้นที่นอกสาขา คนจะสมัครขอสินเชื่อบ้าน มีจำนวนน้อยมากที่เดินเข้ามาขอที่สาขา เช่นเดียวกับลูกค้าเวลท์ของเรา ที่ส่วนใหญ่ก็มาจากการที่พนักงานเอาต์ซอร์ซของธนาคารที่ช่วยหาลูกค้า ดังนั้นจำนวนสาขาไม่ใช่สิ่งสำคัญในการหาลูกค้าแล้ว เราพิสูจน์ได้จากที่ผ่านมา สินเชื่อหลายตัวของเราโตก้าวกระโดด เช่น สินเชื่อบ้านโต 200% สินเชื่อบุคคลโต 35% และสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กโต 83% สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เติบโตจากพนักงานสาขา ซึ่งปัจจุบันพนักงานเอาต์ซอร์ซก็ยังทำหน้าที่ในการหาลูกค้าได้ดี และยังสร้างมาร์จิ้นที่ดีให้กับธนาคารเราด้วย” นายอภินันท์กล่าว

ในส่วนของธุรกิจไพรเวตแบงก์ ธนาคารยังเดินหน้าหาลูกค้าเวลท์ที่มีสินทรัพย์มูลค่าเกิน 30 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อจะให้บริการด้านการบริหารพอร์ตลงทุน โดยปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การแนะนำของธนาคาร (AUA) เพิ่มขึ้นแตะ 5 แสนล้านบาทได้ จากปัจจุบัน AUA อยู่ที่ประมาณ 4.47 แสนล้านบาท

นายอภินันท์กล่าวว่า สำหรับแผนงานของธนาคารในปี 2561 ธนาคารคงตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวมอยู่ที่ 10% โดยจะเน้นสินเชื่อเอสเอ็มอี สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อบ้าน เพราะยังมีความต้องการขอกู้ (ดีมานด์) อยู่ นอกจากนี้จะหันมาเน้นปล่อยสินเชื่อธุรกิจเพื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) โดยเฉพาะดีเวลอปเปอร์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งการกลับมาทำสินเชื่อดีเวลอปเปอร์จะช่วยกระจายความเสี่ยงในเรื่องหนี้เสียได้ เพราะกลุ่มดีเวลอปเปอร์รายใหญ่จะมีปัญหาหนี้เสียต่ำกว่าเมื่อเทียบกับดีเวลอปเปอร์รายกลางที่บางแห่งจะมีปัญหาหนี้เสียสูงกว่า

ADVERTISMENT

สำหรับการตั้งสำรองหนี้เสียของธนาคารในปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ตั้งสำรองแล้วกว่า 700 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารจะขาดทุนจากการขายรถยึด เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อสูงถึง 50% ของพอร์ตสินเชื่อรวม