กำไร DTAC ไตรมาส 3 ฮวบ 41.4% อ่วมค่าใช้จ่ายควบรวมกิจการ-เงินเฟ้อ

dtac ดีแทค

DTAC รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 3/65 กำไรสุทธิ 488 ล้านบาท ลดลง 41.4% เผชิญผลกระทบเชิงลบจากค่าใช้จ่ายควบรวมกิจการ ขณะที่ผลกระทบเงินเฟ้อฉุด EBITDA ลดลง 3.6% ส่วนฐานลูกค้าผู้ใช้บริการรวมเพิ่มขึ้น 7.75 แสนเลขหมาย จากลูกค้าระบบเติมเงินเพิ่มขึ้น 8.33 แสนเลขหมาย สวนทางลูกค้าระบบรายเดือนลดลง 5.8 หมื่นเลขหมาย

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า ในไตรมาส 3/2565 ดีแทคมีกำไรสุทธิเท่ากับ 488 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 41.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากผลกระทบเชิงลบจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการในไตรมาสที่ 3/65 และผลประโยชน์จากต้นทุนค่าธรรมเนียมในไตรมาสที่ 3/64

โดยกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 51.4 จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากผลกระทบเชิงบวกจากการปรับปรุงรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 2/65 และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้นในไตรมาสที่ 3/65 ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนด้วยค่าสินไหมทดแทนระหว่างกาลประมาณ 170 ล้านบาทจากการเคลมเงินประกัน

รายได้รวม ในไตรมาส 3/65 เท่ากับ 20,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย เท่ากับ 13,930 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ ลดลงร้อยละ 0.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายที่ลดลง ในขณะที่ยังคงตัวจากตรมาสก่อนเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับมหภาคที่เป็นไปอย่างช้า ๆ ประกอบกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างชาติ

รายได้หลักคงตัว เหตุการแข่งขันเข้มข้น

รายได้จากการให้บริการหลัก (รายได้จากการให้บริการเสียงและข้อมูล) ในไตรมาสนี้เท่ากับ 13,534 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการแข่งขันที่เข้มข้น และค่อนข้างคงตัวจากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ระบบรายเดือนซึ่งถูกชดเชยโดยการเติบโตของรายได้ระบบเติมเงิน

รายได้จากบริการข้ามแดนอัตโนมัติ ในไตรมาสนี้เท่ากับ 98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 8.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ ร้อยละ 50.8 จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น

รายได้จากการให้บริการอื่น ในไตรมาสนี้เท่ากับ 298 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 3.3 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการโทรทางไกลระหว่างประเทศ

ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย ในไตรมาสนี้เท่ากับ 12,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 12.8 จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากรายการพิเศษจากการปรับปรุงต้นทุนค่าธรรมเนียมและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการโรมมิ่งบนเครือข่าย 2300 MHz ของ TOT

ต้นทุนค่าธรรมเนียม ในไตรมาสนี้เท่ากับ 576 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากรายการพิเศษจากการปรับปรุงต้นทุนค่าธรรมเนียมจำนวนประมาณ 170 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/64 และต้นทุนค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 224.8 จากไตรมาสก่อน มีสาเหตุหลักมาจากการผลกระทบในเชิงบวกประมาณ 1 พันล้านบาทจากไตรมาสก่อน

ต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น

ค่าใช้จ่ายด้านโครงข่าย ในไตรมาสนี้เท่ากับ 1,360 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 6.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น และผลกระทบเชิงบวกจากการปรับปรุงรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาสก่อน โดยในภาพรวม การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้าง

ต้นทุนการให้บริการอื่น ในไตรมาสนี้เท่ากับ 5,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากต้นทุนค่าโรมมิ่งบนเครือข่าย 2300 MHz ของ TOT ทั้งนี้ ต้นทุนสุทธิค่าโรมมิ่งบนเครือข่าย 2300 MHz ของ TOT หลังหักรายได้จากค่าเช่าเครือข่ายที่ได้รับจาก TOT อยู่ที่ประมาณ 1,277 ล้านบาทในไตรมาส 3/65 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของต้นทุนการให้บริการในไตรมาสนี้เท่ากับ 5,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากไตรมาสก่อน จากการขยายสถานีฐานอย่างต่อเนื่อง

ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ในไตรมาสนี้เท่ากับ 3,230 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 17.2 จากตรมาสก่อน เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาดที่ลดลง ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนด้วยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ

ค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาด ในไตรมาสนี้เท่ากับ 854 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14,8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ ลดลงร้อยละ 13.5 จากตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและการมุ่งเน้นการนำดิจิทัลมาปรับใช้งานค่าใช้จ่ายในการบริหาร ในไตรมาสนี้เท่ากับ 1,584 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อน จากผลกระทบเชิงลบจากค่าใช้จ่ายที่เที่ยวข้องกับการควบรวมกิจการประมาณ 160 ล้านบาทที่เกิดขึ้นในไตรมาส 3/65

ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญ ในไตรมาสนี้เท่ากับ 400 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับมหภาคที่เป็นไปอย่างช้า ๆ แต่ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 6.9 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น

ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในไตรมาสนี้เท่ากับ 344 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.9 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 2.1 จาก ไตรมาสก่อน

EBITDA ลดลงร้อยละ 3.6

ขณะที่ EBITDA (ก่อนรายการอื่น ๆ ) หรือ กำไรก่อนหักดอกเบี้ย, ภาษี, ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ในไตรมาสนี้เท่ากับ 7,177 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ เมื่อปรับปรุงรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว EBITD A ยังคงที่จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้าง และ EBITDA ลดลงร้อยละ 13.4 จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากผลกระทบเชิงบวกจากการปรับปรุงรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากไตรมาสที่ 2/65 EBITDA margin (ไม่รวมรายได้จาก CAT ภายใต้สัญญาเช่าสินทรัพย์สัมปทาน และรายได้ค่าเช่าเครือข่าย 2300 MHz จาก TOT) ในไตรมาสนี้เท่ากับร้อยละ 43.8 ลดลงจากร้อยละ 50.8 ในไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ เมื่อปรับปรุงรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว EBITDA margin ในไตรมาส 3/65 ยังแข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 45

โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/65 ดีแทคมีสินทรัพย์รวมจำนวน 157,189 ล้านบาท ลดลงจาก 164,315 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเท่ากับ 5,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3,575 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ในขณะที่หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยรวมหนี้สินตามสัญญาเช่าลดลงจาก 74,611 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 มาอยู่ที่ระดับ 71,854 ล้านบาทในไตรมาสนี้ ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA (รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ยังคงตัวที่ระดับ 2.4 เท่า

รายจ่ายเพื่อการลงทุนในตรมาสนี้เท่ากับ 1,954 ล้านบาท เป็นผลจากการเร่งรัดขยายสถานีฐานบนเครือข่ายคลื่นย่านความถี่ต่ำและการขยายความจุเครือข่าย กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (คำนวณจาก EBITDA หักด้วยรายจ่ายเพื่อการลงทุน) เท่ากับ5,223 ล้านบาทสำหรับไตรมาสนี้

สิ้นไตรมาส 3/65 มีผู้ใช้บริการ 21.1 ล้านเลขหมาย

ขณะเดียวกัน ณ สิ้นไตรมาส 3/65 ดีแทคมีจำนวนผู้ใช้บริการรวมเท่ากับ 21.1 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 7.75 แสนเลขหมายจากไตรมาสก่อน โดยส่วนใหญ่มาจากลูกค้าระบบเติมเงิน โดยเพิ่มขึ้น 8.33 แสนเลขหมายจากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 14.9 ล้านเลขหมาย และลูกค้าระบบรายเดือนลดลง 5.8 หมื่นเลขหมาย

รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ARPU) สำหรับไตรมาส 3/65 เท่ากับ 222 บาทต่อเดือน ซึ่งลดลงร้อยละ 7.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 3.3 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการแข่งขันที่เข้มข้น และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้า ๆ

โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/65 ลูกค้าในระบบรายเดือนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 29 ของจำนวนลูกค้ารวม รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของลูกค้ระบบรายเดือนในไตรมาสนี้ เท่ากับ 484 บาทต่อเดือน ลดลงร้อยละ 2.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อน ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของลูกค้าระบบเติมเงินเท่ากับ 111บาทต่อเดือน ลดลงร้อยละ 7.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 2.0 จากไตรมาสก่อน


ปริมาณการใช้งานบนเครือข่าย 4G-2300MHz ของ TOT ยังคงอยู่ที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จำนวนสถานีฐานบนเครือข่าย 4G-2300MHz ภายใต้ความร่วมมือกับ TOT อยู่ที่ประมาณ 21,800 สถานีฐาน ณ สิ้นไตรมาส 3/65 จำนวนผู้ใช้บริการบนระบบ 4G อยู่ที่ 16.7 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของฐานลูกค้ารวม ในขณะที่จำนวนเครื่องโทรศัพท์ที่รองรับการใช้งานในระบบ 4G และสัดส่วนสมาร์ทโฟนอยู่ที่ร้อยละ 89 และร้อยละ 89.7 ของฐานลูกค้ารวม ตามลำดับ