บาทแข็งค่า หลังเงินเฟ้อ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว

เงินบาท

บาทแข็งค่า หลังเงินเฟ้อ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ส่วนปัจจัยในประเทศเงินเฟ้อของไทยเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 5.98% ชะลอตัวลงต่อเนื่อง คาด 2 เดือนที่เหลือยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (07/11) ที่ระดับ 37.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (04/11) ที่ระดับ 37.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 261,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงาน กลับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.5% ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เผชิญกับแรงขายทำกำไร ทั้งนี้ในเดือน ก.ย.กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ก.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ส.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 292,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าภาคเอกชนจ้างงานเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 28,000 ตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ดีดตัวขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. 65 อยู่ที่ 108.06 เพิ่มขึ้น 5.98% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.33% จากเดือน ก.ย. 65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 6.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตาเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ต.ค. 65 อยู่ที่ 103.78 เพิ่มขึ้น 3.17% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.05% จากเดือน ก.ย. 65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน “อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค.นี้ เพิ่มขึ้น 5.98% เป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน และ สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง” นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.28-37.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (07/11) ที่ระดับ 0.9938/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (04/11) ที่ระดับ 0.9779/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนายฟรังซัวส์ วิลเลอรอย กาลฮาว ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกจนกว่าจะแน่ชัดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแตะระดับสูงสุดแล้ว แต่อาจชะลอการปรับเพิ่มหากอัตราดอกเบี้ยแตะระดับที่เริ่มจำกัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในเวลาเพียง 3 เดือนที่ผ่านมา ECB ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยรวมกันไปแล้วถึง 2% จนแตะระดับ 1.5% นับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยตลาดคาดว่าดอกเบี้ยจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.7% ในเดือน ต.ค.อาจไปพีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 พร้อมเตือนว่าอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการกดอัตราเงินเฟ้อลงสู่ระดับเป้าหมายของ ECB

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงจะชะลอตัวลง รวมถึงมีปัญหาคอขวดด้านการขนส่งก็ตาม รายงานระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน ก.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9909-1.0007 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9985/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (07/11) ที่ระดับ 147.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (04/11) ที่ระดับ 148.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.63-147.57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 146.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (10/11), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ต.ค. (10/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (11/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.5/-8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.4/11.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ