ดอลลาร์ร่วง หลังเงินเฟ้อดีกว่าคาดการณ์

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์ร่วง หลังเงินเฟ้อเดือนตุลาคมของสหรัฐอยู่ที่ 7.7% ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และชะลอตัวลงจากระดับ 8.2% ในเดือน ก.ย. ส่งผลให้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักสูงถึง 80.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 7-11 พฤศจิกายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (7/11) ที่ระดับ 37.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/11) ที่ระดับ 37.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 261,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานกลับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.5% ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเผชิญกับแรงขายทำกำไร ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานปรับตัวขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบรายปี

นอกจากนี้นักลงทุนได้เทขายดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ทั้งนี้จากรายงานว่า ผลการนับคะแนนการเลือกตั้งกลางเทอมล่าสุด พบว่า พรรครีพับลิกันคว้าที่นั่งในวุฒิสภามากกว่าพรรคเดโมแครต โดยอยู่ที่ 49:48 จากจำนวนทั้งสิ้น 100 ที่นั่ง โดยทั้งสองพรรคต้องการได้มากว่า 50 ที่นั่งจึงจะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา

ส่วนในสภาผู้แทนราษฎร ผลการนับคะแนนล่าสุด พบว่า พรรครีพับลิกันสามารถคว้าที่นั่งมากกว่าพรรคเดโมแครตเช่นกัน โดยอยู่ที่ 203:187 จากจำนวนทั้งสิ้น 435 ที่นั่ง โดยพรรคที่ได้ 218 ที่นั่งจะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ได้กดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีดอลลาร์ร่วงแตะระดับ 107.47 ดอลลาร์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลงสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ธ.ค.

เงินเฟ้อ ต.ค.สหรัฐปรับขึ้น 7.7%

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 7.7% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.9% และชะลอตัวจากระดับ 8.2% ในเดือน ก.ย. ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ธ.ค.

โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักสูงถึง 80.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. และให้น้ำหนัก 19.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 225,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 220,000 ราย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ต.ค. 65 อยู่ที่ 108.00 เพิ่มขึ้น 5.98% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.33% จากเดือน ก.ย. 65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 6.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ต.ค. 65 อยู่ที่ 103.78 เพิ่มขึ้น 3.17% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.05% จากเดือน ก.ย. 65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ “อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค.นี้ เพิ่มขึ้นเพียง 5.98% เป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน และ สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง”

จีนลดเวลากักตัวเข้าประเทศ

ทั้งนี้ในวันศุกร์ (11/11) ทางการจีนประกาศลดระยะเวลาการกักตัวของนักเดินทางขาเข้า เป็น 8 วัน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่สำคัญของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid Policy) ที่ทำให้เศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกย่ำแย่ลงและถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติมากขึ้น

โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้น ทำให้เกิดความหวังว่า จีนจะเลิกใช้วิธีการสั่งลงโทษที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.70-37.58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/11) ที่ระดับ 35.95/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (7/11) ที่ระดับ 0.9938/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/11) ที่ระดับ 0.9779/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนายฟรังซัวส์ วิลเลอรอย เดอ กาลฮาว ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกจนกว่าจะแน่ชัดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแตะระดับสูงสุดแล้ว แต่อาจจะชะลอการปรับเพิ่มหากอัตราดอกเบี้ยแตะระดับที่เริ่มจำกัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

คาด ECB ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ทั้งนี้สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าในเวลาเพียง 3 เดือนที่ผ่านมา ECB ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยรวมกันไปแล้วถึง 2% จนแตะระดับ 1.5% นับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยตลาดคาดว่าดอกเบี้ยจะแตะระดับสูงสุดที่ประมาณ 3% ในปีหน้า ซึ่งบ่งชี้ว่า ECB จะยังคงเดินหน้าเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวรวดเร็วเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงจะชะลอตัวลง รวมถึงมีปัญหาคอขวดด้านการขนส่งก็ตาม โดยรายงานระบุว่า ผลผลิตภาคอตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน ก.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2%

ทางด้านสถาบันวิจัย Sentix ของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -30.9 ในเดือน พ.ย. จากระดับ -38.3 ในเดือน ต.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณที่ระดับ -35.0 ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า สภาพอากาศที่อบอุ่นและการสำรองก๊าซธรรมชาติในระดับสูงจะช่วยให้ยุโรปสามารถหลีกเลี่ยงการปันส่วนก๊าซธรรมชาติในช่วงฤดูหนาว

โดยในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีได้ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี นอกจากนี้การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดได้สนับสนุนความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงได้หนุนค่าเงินยูโร โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีกรอบระหว่าง 0.9898-1.0260 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/11) ที่ระดับ 1.0249/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (7/11) ที่ระดับ 147.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/11) ที่ระดับ 148.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันอังคาร (8/11) ว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากประชาชนออกมาใช้จ่ายในช่วงฤดูร้อนแรกที่รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทยอยปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐในวันพฤหัสบดี (10/11) ส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วงสู่ระดับ 3.807% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์


ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.19-147.56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/11) ที่ระดับ 141.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ