คลังชี้จีดีพีไทยปี’66 ยังขยายตัวได้ แม้เศรษฐกิจโลกอาจถดถอย

จีดีพีไทย

รมว.คลัง เผยเศรษฐกิจไทยในปี’66 ยังมีแนวโน้มขยายตัว แม้ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ชี้ปัจจัยบวกจากจีนผ่อนคลายมาตรการโควิด-ส่งออก-ท่องเที่ยว

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ (Bloomberg Business Summit) : Interconnection Transformed ว่า ทั่วโลกมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 นั้น เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งก็ประเมินว่ามีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอเมริกา และยุโรป

โดยขณะนี้ได้ใช้นโยบายอย่างเข้มข้น เพื่อลดสถานการณ์ความร้อนแรงของเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี หากมองในฝั่งเอเชียนั้น ยังมีส่วนที่จะเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ โดยเป็นเรื่องของนโยบาย zero COVID ของจีน ซึ่งหากปี 2566 จีนผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจกลับมา

ทั้งนี้ หากมองในเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอยนั้น ในกลุ่มเอเชียแม้ว่าจะมีการปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จากคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้จาก 3.2% ลดเหลือ 2.7% ในปี 2566 ซึ่งต่ำลง แต่เศรษฐกิจเอเชียนั้น แม้จะลดประมาณการลงมา แต่ยังเป็นเทรนด์ที่เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น

เช่น ปีนี้กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.4% และปีหน้าจะขยายตัวได้ 3.8% เช่นเดียวกันกับประเทศจีน ปี 2565 คาดขยายตัวได้ 1.6% และปีหน้าประมาณ 4% เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า แม้เศรษฐกิจปรับลดลงมา แต่ก็เป็นแนวโน้มของการฟื้นตัว

“เศรษฐกิจไทยมีความชัดเจนว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาท และต่อมาคือภาคการท่องเที่ยว โดยขณะนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยแล้ว 8.4 ล้านคน คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีกว่า 10 ล้านคน ถือเป็นจำนวน 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวก่อนสถานการณ์โควิด

และหากปีหน้ากลุ่มนักท่องเที่ยวอาเซียน รวมทั้งอินเดีย ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจปีหน้าเติบโตขึ้นด้วย นอกจากนี้ ในปี 2566 ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนที่มีความต่อเนื่อง จากโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกช่องทางหนึ่ง”


ส่วนเรื่องค่าเงินบาทนั้น แม้จะปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่ยังอ่อนค่าอยู่เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนควรจะอยู่อัตราใดจึงจะเหมาะสมนั้น ไม่สามารถตอบได้ ซึ่งเป็นกลไกของตลาด แต่ขณะนี้ค่าเงินบาทก็ถือเป็นส่วนช่วยให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดี