บาทอ่อนค่าตามภูมิภาค หลังแบงก์ชาติจีนประกาศคงดอกเบี้ยนโยบาย

เงินบาท ดอลลาร์

เงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค หลังแบงก์ชาติจีนประกาศคงดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ปัจจัยในประเทศ สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/65 ขยายตัวถึง 4.5% หลังประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/11) ที่ระดับ 35.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/11) ที่ระดับ 35.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางจีนประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีที่ระดับ 3.6% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีที่ระดับ 4.30% ในวันนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีของจีนเป็นดัชนีวัดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคเอกชน ส่วนอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นดัชนีวัดทิศทางอัตราดอกเบียของภาคครัวเรือน ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อการกู้จำนองธนาคารกลางจีนตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย LPR ทั้งสองประเภท หลังจากที่ได้คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนไว้ที่ระดับ 2.75% เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ในวันดังกล่าว ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดสภาพคล่องมูลค่า 8.50 แสนล้านหยวน (1.2016 แสนล้านดอลลาร์) เข้าสู่ระบบการเงิน และอัดฉีดสภาพคล่องมูลค่า 1.72 แสนล้านหยวนผ่านทางข้อตกลง reverse repurchase ประเภทอายุ 7 วันที่อัตราดอกเบี้ย 2%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% จากตลาดคาดขยายตัว 4.3% โดย GDP ไตรมาส 3/65 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัว 2.5% ในไตรมาสที่ 2/65 เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโรคโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

ขณะที่ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับนโยบายในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถานการณ์ภายนอกประเทศที่เริ่มผ่อนคลายความตึงเครียด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.90-36.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/11) ที่ระดับ 1.0311/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/11) ที่ระดับ 1.0384/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังทรีวาโก เอ็นวี (Trivago NV) บริษัทรับจองห้องพักออนไลน์ เปิดเผยว่า ชาวยุโรปเริ่มปรับลดงบประมาณสำหรับการท่องเที่ยวลง หลังต้นทุนภาคครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น ทำให้รายได้สำหรับการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลดลง

นายมัทธีอัส ทิลมันน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของทรีวาโก ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อมูลในช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค.ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะชื่นชอบโรงแรมราคาถูกและการเดินทางระยะสั้นมากขึ้น โดยยอดคลิกตัวเลือกที่มีราคาถูกกว่ามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงสภาวะเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ส่งสัญญาณชัดเจนในการชะลอตัวลงในช่วงปลายปี

นอกจากนี้ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า ECB จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอาจถึงขั้นต้องจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยชี้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นถือเป็นเครื่องมือสำคัญของ ECB เหนือการลดบัญชีงบดุล ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลต่อสภาวะชะลอตัวดังกล่าวมากขึ้น และลดการถือครองสกุลเงินยูโรลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0228-1.0320 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0228/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/11) ที่ระดับ 140.29/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/11) ที่ระดับ 139.93/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ยังไม่ได้อยู่ในกรอบที่ถือว่ามีการคุมเข้มมากเพียงพอ

“แม้ว่าเฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่กรอบ 3.75-4.0% ในปีนี้ แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับที่เฟดมองว่ามีการคุมเข้มมากพอที่จะฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ซึ่งกรอบอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับคุมเข้มอย่างมีประสิทธิภาพ คือ 5-7%” นายบูลลาร์ดกล่าว

ทางด้านนางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟด สาขาแคนซัส ซิตี้ แสดงความเห็นว่าเฟดอาจจะต้องทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงเพื่อให้เงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงมีความตึงตัว ทำให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินเยนลง และหันไปถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น โดยตลาดจับตารายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 1-2 พ.ย. ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันที่ 22 พ.ย. เพื่อบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.116-141./83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.82/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน ต.ค.จากเฟดชิคาโก (21/11), ดัชนีการผลิตเดือน พ.ย.จากเฟดริชมอนด์ (22/11), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ต.ค. (23/11), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ย. จากเอสแอนด์พี โกลบอล (23/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (23/11), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย.

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.50/-8.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.00/-7.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ