ก.ล.ต. ขู่เพิกถอน AWS สั่งทำแผนแก้ไขเงินกองทุน เดดไลน์ 13 ก.พ. 66

หุ้นกู้

ก.ล.ต.กางไทม์ไลน์ สั่ง “บล.เอเชีย เวลท์” โอนทรัพย์สินลูกค้า 5.3 พันราย เดดไลน์ 2 ธ.ค.65 พร้อมสั่งให้จัดทำแผนแก้ไขเงินกองทุนสภาพคล่องฯ ภายใน 13 ก.พ.2566 ขู่ทำไม่ได้ตามแผนเตรียมเพิกถอนใบอนุญาต เล็งยกระดับล้อมคอกธุรกิจหลักทรัพย์ ทบทวนเพิ่มเกณฑ์ NC

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 นายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมาย นายเอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย และนางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายระดมทุน

ได้เปิดเผยถึงกรณีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ จำกัด (AWS) ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital : NC) ได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีเงินกองทุนต่ำกว่า 0 ติดต่อกันเกิน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565

สั่งโอนทรัพย์สินลูกค้า 5 พันราย เดดไลน์ 2 ธ.ค.

โดยล่าสุดสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีคำสั่งระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทของ AWS และให้ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามคำสั่งของลูกค้า และต้องโอนทรัพย์สินลูกค้าทั้งหมดตามที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้ ภายใน 10 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565

ซึ่งตามไทม์ไลน์กำหนดให้ต้องโอนทรัพย์สินลูกค้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 ธ.ค.2565 หากพบกรณีลูกค้าบางรายลืมแจ้งความประสงค์ให้โอนทรัพย์สิน ทาง AWS มีหน้าที่ต้องประสานงานติดต่อไป โดยปัจจุบันนี้ AWS มีฐานลูกค้าอยู่ทั้งหมด 5,300 ราย คิดเป็นบัญชีเงินสดที่ฝากไว้กับบริษัทจำนวนกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดทาง AWS แจ้งว่าได้คืนเงินลูกค้าครบหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามทางสำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องนี้ว่าได้ดำเนินการครบจริงหรือไม่ต่อไป

ทำแผนแก้ไขเงินกองทุนฯ ภายใน 13 ก.พ.66-ขู่เพิกถอน

ทั้งนี้ทั้งนั้น AWS จะต้องมีการเสนอแผนแก้ไขการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) มายังสำนักงาน ก.ล.ต.ภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 13 ธ.ค.2565 หลังจากนี้ทาง AWS มีเวลาอีก 90 วัน หรือภายในวันที่ 13 ก.พ.2566 ในการต้องดำเนินการตามแผนที่เสนอเพื่อทำให้ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) กลับมาสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ ก.ล.ต.กำหนด ซึ่งปัจจุบันก.ล.ต.กำหนดระดับเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital : NC) ต้องเกิน 25 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Ratio : NCR) ต้องเกิน 7%

“ในระหว่างที่ยังทำไม่ได้ AWS จะถูกระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภท และหากแก้ไขตามแผนไม่ได้อีก ในที่สุดจะนำไปสู่การใช้มาตรการเพิกถอนใบอนุญาตตามอำนาจของกฎหมาย ซึ่งอาจต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่งเมื่อถึงเวลาดังกล่าว เพราะตอนนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนของการแก้ไข” ทีมโฆษก ก.ล.ต. กล่าว

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นวิธีการแก้ไขปัญหาง่ายที่สุดคือ 1.ใส่เงินเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquid Assets) เข้ามา ในขณะที่หนี้สินไม่ได้เพิ่ม และ 2.ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือหนี้สินด้อยสิทธิเพิ่มขึ้นมา เพราะในหลักการสามารถนำมานับเป็นเงินกองทุนได้

เล็งยกระดับล้อมคอกธุรกิจหลักทรัพย์

ส่วนมาตรการกำกับภาคธุรกิจหลักทรัพย์ในอนาคต หลังจากนี้ ก.ล.ต.คงจะต้องมีกระบวนการเข้าไปตรวจสอบและพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีช่องโหว่ตรงไหนที่ยังไม่ครอบคลุม และมีความจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์หรือไม่อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารความเสี่ยง, การเปิดบัญชีลูกค้า, การให้วงเงิน เป็นต้น ซึ่งต้องย้อนกลับมาพิจารณาทั้งหมด

ส่วนเกณฑ์ NC มีการรีวิวอยู่เป็นระยะ ๆ เมื่อเห็นช่องโหว่ ในปัจจุบันอยู่ในโครงการยื่นทบทวน โดยมีการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาพิจารณาค่าความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อทบทวนเกณฑ์ต่อไป