“ทริกเกอร์ฟันด์” พลาดเป้า รายย่อยค้างเติ่ง 1.3 หมื่นล้าน

มอร์นิ่งสตาร์ฯเผย ทริกเกอร์ฟันด์หุ้นไทย-เทศ หมดอายุโครงการ-สร้างผลตอบแทนไม่ถึงเป้า ส่งผลนักลงทุนรายย่อยติดในระบบกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท บล.ทิสโก้แนะนักลงทุนเลือกทิ้งเงินไว้ในกองทุนหุ้นญี่ปุ่น-ตลาดเกิดใหม่ที่ยังมีอนาคต ลุ้นเงินไหลเข้าดันผลตอบแทนปรับตัวเป็นบวก

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามี “ทริกเกอร์ ฟันด์” ซึ่งเป็นกองทุนหุ้นที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด ที่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย จนทำให้นักลงทุนมีผลตอบแทนติดลบ และต้องยอมแช่เงินไว้ในกองทุนเปิดที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เตรียมไว้ทดแทน คิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าทริกเกอร์ ฟันด์ทั้งระบบประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ 21 ก.ค. 2560)

“จากข้อมูลทริกเกอร์ ฟันด์หุ้นไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 80 กว่ากอง ในจำนวนนี้พบว่า 90% เป็นกองทุนที่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด จน บลจ.ต้องโยกเงินของนักลงทุนมาอยู่ในกองทุนรวมแทน ซึ่งคร่าว ๆ คิดว่าน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท สาเหตุเป็นเพราะตลาดหุ้นปรับตัวลดลงไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งส่วนตัวคิดว่า นักลงทุนจะต้องประเมินว่าจะเอา

อย่างไรต่อ เพราะนักลงทุนบางคนอาจจะติดอยู่ในกองทุนรวมนานมากแล้ว หลังจากที่ทริกเกอร์ ฟันด์ ทำผลตอบแทนไม่ถึงเป้า ดังนั้นก็อาจจะถึงเวลาที่ควรจะขายตัดขาดทุน หรือว่าจะลงทุนต่อในกองทุนรวมด้วยเหตุผลอะไร” นายกิตติคุณกล่าว

ด้านนายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า หากนักลงทุนลงทุนในทริกเกอร์ ฟันด์ หุ้นต่างประเทศ ที่ทำผลตอบแทนไม่ได้ตามเป้าหมายในเวลาที่กำหนด จน บลจ.ต้องโยกเงินเข้าไปในกองทุนรวมที่มีลักษณะการบริหารที่ใกล้เคียงกันนั้น กรณีนี้นักลงทุนควรจะเลือกแช่เงินไว้ในกองทุนรวมของประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตดีในช่วงครึ่งปีหลัง

ตัวอย่าง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตลาดหุ้นยังมีอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ไม่สูงมากนักอยู่ที่ราว 16-17 เท่า ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างตลาดหุ้นสหรัฐ ที่พี/อีสูงกว่า 18-19 เท่า อีกทั้งประเทศญี่ปุ่นยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ประกาศออกมาค่อนข้างดี ซึ่งสะท้อนว่าภาคการผลิต และสัญญาณการบริโภคโดยรวมน่าจะยังขยายตัวได้ และสนับสนุนการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นในประเทศได้

ส่วนทริกเกอร์ ฟันด์หุ้นไทย ที่ทำผลตอบแทนไม่ได้ตามเป้าหมายในเวลาที่กำหนด จน บลจ.ต้องโยกเงินเข้าไปในกองทุนรวม กรณีนี้แนะนำว่านักลงทุนควรพิจารณารายละเอียดหุ้นที่กองทุนรวมลงทุนด้วยว่าเป็นหุ้นประเภทใด หากเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ และหุ้นปันผลสูง ก็สามารถถือต่อไปได้ เพราะในระยะ 12 เดือนหลังจากนี้คาดว่าหุ้นไทยกลุ่มนี้จะได้รับผลดีจากเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่น่าจะไหลกลับเข้ามาซื้อหุ้นในตลาดที่ไม่แพง ซึ่งได้แก่ ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) รวมถึงตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ตาม หากเงินของนักลงทุนถูกโยกเข้าไปในกองทุนรวมหุ้นที่มีขนาดกลาง-ขนาดเล็กเป็นหลัก ก็อาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะหุ้นกลุ่มนี้มีความผันผวนค่อนข้างสูง

“ครึ่งปีหลังนี้เรามองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่น และตลาดหุ้น Emerging Market รวมถึงตลาดหุ้นไทยน่าจะเป็นตลาดที่นักลงทุนสามารถเลือกแช่เงินไว้ต่อได้ ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐนั้นมีการปรับตัวขึ้นไปมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงตลาดหุ้นยุโรปที่ยังมีแรงกดดันจากประเด็นการลดขนาดมาตรการทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งก็อาจจะยังไม่ใช่จังหวะที่ดีในการลงทุน” นายธีรนาถกล่าว