ศูนย์วิจัยทีเอ็มบีเผยความเชื่อมั่น SME ไตรมาส 4/60 ดิ่ง หลังกังวลต้นทุนพุ่งจากปรับขึ้นค่าแรง

ศูนย์วิจัยทีเอ็มอี เปิดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ไตรมาส 4 ปีก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีวูบ หลังผู้ประกอบการกังวลด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการขึ้นค่าแรง ชี้ขึ้นค่าแรงกระทบต่อกำไรสุทธิของเอสเอ็มอีลดลง 1% ในภาคบริการ

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเขื่อมั่นของผู้ประกอบการขนาดย่อมในไตรมาส 4 ปี 2560 นั้นดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลงมาอยู่ที่ระดับ 35. 5 จาก 37.3 ในไตรมาสก่อนหน้า แม้ความเชื่อมั่นด้านรายได้ของผู้ประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 41.9 ในไตรมาส 4 หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 37.3 แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กังวลด้านต้นทุนมากขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาล ทำให้ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับลดลงมาอยู่ที่ 29.1 จาก 35.7

โดย จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัย จากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานรอบนี้ เชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อด้านกำไรสุทธฺของผลประกอบการของเอสเอ็มอี โดยเฉพาะภาคบริการ ที่คาดว่าจะได้กำไรสุทธิต่ำลง 1.0%ต่อผู้ประกอบการหนึ่งราย ขณะที่ภาคการผลิตคาดกำไรสุทธิจะลดลง 0.3% และการค้าลดลง 0.2% และพบว่าภาคที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงมากสุดส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคตะวันออก มากกว่าภาคอื่นๆ

ทั้งนี้ หากดูอัตราการขึ้นค่าแรงมากสุดใน 10 จังหวัด พบว่า อยู๋ที่ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ลพบุรี ตราด หนองคาย อุบลราชธานี สุพรรณบุรี กรุงเทพมหานคร

“เชื่อว่าปัจจัยค่าแรงน่าจะกระทบต่อเนื่องไปอีก 1-2 ไตรมาสของปีนี้ แต่ผลกระทบจะชัดเจนขึ้นหากเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน ซึ่งปัจจัยด้านค่าแรงถือเป็นปัจจัยลบที่ศูนย์วิจัยประเมินไว้ในปี 2561 นี้นอกจากนี้ปัจจัยลบของภาคเอสเอ็มอีปีนี้ยังมีเรื่องของราคาสินค้าเกษตร ที่ขยับตัวช้า และไม่ได้ปรับตัวตามราคาน้ำมันที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ซี่งต่างจากอดีตที่เวลาน้ำมันขึ้น สินค้าเกษตรเช่น ยาง อ้อย มันสำปะหลังจะขึ้นทันที”นายเบญจรงค์กล่าว

นายเบญจรงค์ยังประเมินแนวโน้มความเชื่อมั่นของเอสเอ็มอี ในปี 2561 คาดว่า มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น จากกาเติบโตเศรษฐกิจที่เริ่มกระจายตัว และส่งผลบวกต่อเอสเอ็มอีมากขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้เสียของกลุ่มเอสเอ็มอี เชื่อว่าน่าจะมีความกังวลน้อยลงหากเทียบกับอดีต เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอี ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2560 ดังนั้นปีนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเห็นเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีจะต่ำลงกว่าระดับ 4% ได้