ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ตลาดจับตาถ้อยแถลงประธานเฟด

ดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ตลาดจับตาถ้อยแถลงประธานเฟด ขณะที่นักลงทุนคาดหวังจีนจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และจะกลับมาเปิดประเทศ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/11) ที่ระดับ 35.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/11) ที่ระดับ 35.42/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุล ในตะกร้าเงิน ลดลง 0.17% แตะที่ 106.65 ขณะที่นักลงทุนคาดหวังว่าจีนจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และจะกลับมาเปิดประเทศ

โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนแถลงเมื่อวานนี้ (29/11) ว่า จีนจะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเปิดประเทศ หลังจากรัฐบาลบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดผ่านนโยบายโควิดเป็นศูนย์

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสหรัฐระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 100.2 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จากระดับ 102.2 ในเดือนตุลาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของราคาพลังงาน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สำหรับผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ซิลเลอร์ บ่งชี้ว่า ราคาบ้านในสหรัฐได้ชะลอตัวในเดือนกันยายน โดยดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.6% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายปี แต่ต่ำกว่าระดับ 12.9% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายเดือนดัชนีราคาบ้านลดลง 0.8% ในเดือนกันยายน

ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐลดลง 1.5% หลังจากร่วงลง 1.6% ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ดัชนีราคาบ้านชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ตามการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 ต่อปี จาก 1.00% เป็น 1.25 ต่อปี โดยให้รู้ผลทัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะได้รับแรงกดดันจากการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลงตามอุปสงส์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว และปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อน ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลง

ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง และอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.21-35.53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/11) ที่ระดับ 1.0333/347 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/11) ที่ระดับ 1.0367/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 93.7 ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 92.7 ในเดือนตุลาคม และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 93.5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจดังกล่าวปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

การปรับตัวขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคบริการ โดยผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ขณะที่คาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวเอง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0317-1.0360 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0352/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/11) ที่ระดับ 138.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/11) ที่ระดับ 138.21/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่า หลังมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงอยู่ที่ -2.6% ต่ำกว่าคาดที่ -1.5 ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.30-138.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 138.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพฤศจิกายน จาก ADP (30/11), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2565 (ประมาณการครั้งที่ 2) (30/11), ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนตุลาคม (30/11), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนตุลาคม (30/11) และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (30/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -12.25/-12 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -18/-15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ