2 ประกันต่างชาติรุกตลาดอีวี “AXA-ซมโปะ” ชูแผนปี’66 ผนึกค่ายรถ

ประกันรถอีวี

2 ค่ายประกันต่างชาติ กางแผนปี’66 ลุยตลาดประกันรถอีวี “แอกซ่าฯ” เดินหน้าจับมือพันธมิตรค่ายอีวีเพิ่มเติม พร้อมลุยเพิ่มความคุ้มครอง “สายชาร์จ-เครื่องชาร์จ” รถอีวี-ไฮบริด ฟาก “ซมโปะฯ” ซุ่มจับมือพาร์ตเนอร์เตรียมออกแบบประกันรถยนต์ไฟฟ้า

นายโคลด เซนย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ AXA เปิดเผยว่า จบสิ้นปี 2565 คาดการณ์ว่าบริษัทจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 4,800 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 200 ล้านบาท ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมในปี 2566 จะมีอัตราการเติบโต 20% แตะระดับ 5,700 ล้านบาท มาจากเบี้ยประกันรถยนต์สัดส่วน 60%

โดยแผนธุรกิจในปี 2566 จะมุ่งเน้นทำตลาดประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (liability insurance) และบุกตลาดประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เต็มตัว

จากปัจจุบันมีงานรับประกันรถอีวีเข้ามาบ้างแล้ว ผ่านช่องทางโบรกเกอร์ประมาณหลักร้อยคัน ทั้งนี้ เพื่อขยายพอร์ตให้โตเร็วขึ้น ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างหาพันธมิตรอีวีแบรนด์ เพื่อส่งงานให้กับบริษัทเพียงรายเดียว

สำหรับปัจจุบันพอร์ตงานรถอีวี รวมรถยนต์ไฮบริด มาจาก 3 พันธมิตรหลัก คือ BMW, Volvo และ Honda ค่าเบี้ยเฉลี่ยต่อคัน จะแพงกว่ารถสันดาปภายใน 10-20% โดยในกลุ่มรถยุโรปอยู่ที่ประมาณ 4-5 หมื่นบาทต่อปี และในกลุ่มรถเอเชียเริ่มต้นที่ 19,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทได้เพิ่มความคุ้มครองประกันรถอีวีและไฮบริดให้กับลูกค้า โดยคุ้มครองความเสียหายหรือสูญหายต่อสายชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สูงสุด 10,000 บาทต่อปีกรมธรรม์ ความเสียหายหรือสูญเสียต่อเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน สูงสุด 50,000 บาทต่อปีกรมธรรม์

รวมไปถึงความรับผิดต่อบุคคลภายนอกจากอุบัติเหตุ เนื่องจากการใช้งานเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านและสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ สูงสุด 1,000,000 บาทต่อครั้ง โดยไม่ปรับเบี้ยประกันเพิ่ม

“เราไม่ได้กังวลต่ออัตราความเสียหายที่จะเกิดขึ้นสูงจากการรับประกันรถอีวี เพราะได้คำนวณอัตราเบี้ยไว้ตามความเหมาะสมแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็ยังให้ความคุ้มครองเต็มทุนประกันในความเสียหายของตัวแบตเตอรี่ แต่ต่อไปก็จะมีทางเลือกให้กับลูกค้าได้ค่าเบี้ยถูกลง แต่ต้องมีส่วนร่วมจ่ายหรือรับผิดชอบส่วนแรก ซึ่งตอนนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำลังอยู่ระหว่างจะออกเกณฑ์”

ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SOMPO กล่าวว่า สิ้นปีนี้เบี้ยรับรวมของบริษัทน่าจะเป็นไปตามเป้ากว่า 4,000 ล้านบาท หลังจากในช่วง 10 เดือนแรกมีเบี้ยรวมที่ 3,500 ล้านบาท เติบโต 20% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากพอร์ตเบี้ยน็อนมอเตอร์ 77% และมอเตอร์ 23%

โดยฐานลูกค้าหลักยังคงมาจากงานรับประกันภัยทรัพย์สินในกลุ่มโรงงานลูกค้าญี่ปุ่นในไทย และที่เหลือมาจากงานรายย่อยลูกค้าคนไทย เช่น ประกันรถยนต์, ประกันเดินทาง และประกันสุขภาพ

โดยปีนี้พอร์ตงานรายย่อยลูกค้าคนไทยถือว่ามีอัตราการเติบโตเกิน 2 เท่า หรือเกือบ 70% จากประมาณ 30% ในปี 2562 ซึ่งเป็นการโตที่เร็วมาก ตามแผนกลยุทธ์บุกรีเทลมาร์เก็ต โดยมีพอร์ตงานใหญ่สุด คือ ประกันรถยนต์ มียอดขายหลักผ่านคู่ค้ากลุ่ม CIMB ทั้งธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ และเวิลด์ลีส รวมทั้งพันธมิตรโบรกเกอร์และนายหน้าบุคคล

ทั้งนี้ ตั้งเป้าเบี้ยปีหน้าจะเติบโตสองหลัก โดยช่วงไตรมาสแรกปี 2566 มีแผนจะเปิดตัวกรมธรรม์ประกันรถยนต์ตัวใหม่ ที่ตอบโจทย์ค่าเบี้ยแบบแฟร์ ๆ พร้อมให้บริการเคลมบนช่องทาง fast track ผ่านอู่ในเครือกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการรับประกันรถอีวีร่วมกับพาร์ตเนอร์รายหนึ่ง

“ตอนนี้ต้นทุนการรับประกันในตลาดยังสูง จึงต้องพัฒนาหาฟีเจอร์แบบแฟร์ ๆ ให้ลูกค้า ด้วยค่าเบี้ยประกันที่ไม่แพง ซึ่งอาจจะคุ้มครองบนพื้นฐานก่อน และลูกค้าสามารถท็อปอัพซื้อความคุ้มครองอื่นเพิ่มได้”

นอกจากนี้ ยังจะรุกตลาดประกันเดินทางเอาต์บาวนด์ เน้นท่องเที่ยวญี่ปุ่น, ยุโรป และทั่วโลก ตั้งเป้าเบี้ย 100 ล้านบาท และตีตลาดประกันสุขภาพที่เพิ่มความรับผิดส่วนแรกเพื่อให้ลูกค้าจ่ายเบี้ยประกันถูกลง พร้อมขยายพันธมิตรโบรกเกอร์ไตรมาสละ 1 ราย

“หลังจากหยุดมานาน 2 ปีช่วงโควิด การแข่งขันน่าจะรุนแรงมากขึ้น จะเห็นการทำโปรโมชั่นและทุ่มงบฯโฆษณาเพื่อทำแบรนดิ้ง เพราะลูกค้าเริ่มเลือกบริษัทประกันที่มั่นคง จากเมื่อก่อนซื้อประกันด้วยราคาถูก แต่คงได้รับบทเรียนจากเคลมโควิด ซึ่งก็ถือเป็นความท้าทายของเราเหมือนกัน เพราะในไทยคนยังไม่ค่อยรู้จักซมโปะฯ แต่จริง ๆ เราก่อตั้งมานานกว่า 135 ปีในญี่ปุ่น และค่อนข้างมีเงินทุนสูง” ผศ.ชญณากล่าว