ไทยเจ้าภาพประชุม คปภ.อาเซียน 6-9 ธ.ค.นี้ ร่วมผลักดันขับเคลื่อน ESG

ไทยเจ้าภาพประชุม คปภ.อาเซียน 6-9 ธ.ค. 65 ร่วมผลักดัน ESG-ปรับตัวใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนทำงาน

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 นางมยุรินทร์ สุทธิรัตนพันธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกลยุทธ์องค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน “ประชุมประจำปีนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 25 (The 25th ASEAN Insurance Regulator’s Meeting: AIRM) และการประชุมสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 48 (The 48th ASEAN Insurance Council Meeting: AIC)” หรือประชุม คปภ.อาเซียนช่วงวันที่ 6-9 ธ.ค. 2565 จัดที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอให้สำนักงาน คปภ.ไทยหยิบยกประเด็นการปรับตัวนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน (Digitalization) และการผลักดันการขับเคลื่อนเรื่อง ESG เพื่อให้สอดรับนโยบายชาติ ซึ่งปัจจุบัน คปภ.อาเซียน กำลังขับเคลื่อนเรื่อง ESG ผ่านคณะทำงานร่วมกัน โดยเมื่อปีที่แล้วในการประชุม คปภ.อาเซียนที่สิงคโปร์ ได้มุ่งเน้นผลักดันเรื่องการลงทุนไปแล้ว

ในขณะที่การขับเคลื่อนเรื่อง ESG ในประเทศไทยได้เริ่มต้นพูดคุยร่วมกันแล้วภายใต้ 5 หน่วยงานภาคการเงิน ประกอบด้วย 1.สำนักงาน คปภ. 2.สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 3.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 4.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ 5.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

ซึ่งมีการประชุมร่วมกันเป็นประจำ โดย คปภ.จะเป็นต้นเรื่องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ โดยโปรดักต์ที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว อาทิ ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ก็คาดว่าในปี 2566 คงจะได้เห็นโปรดักต์ตัวใหม่ออกมา ส่วนทาง สศค.จะเป็นต้นเรื่องหาแรงจูงใจ (Incentive) ทางด้านภาษี ขณะที่แบงก์ชาติจะพิจารณามาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) และนิยามของภาคการเงิน ส่วน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯจะดูแลเรื่องการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG

ในส่วนภาคธุรกิจประกันภัยไทยคงจะต้องมาพูดคุยวางโรดแมปในการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ต่อไป แต่ในเบื้องต้นจะเป็นลักษณะการส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจให้เห็นภาพตรงนี้ก่อน จะไม่ได้เป็นการบังคับทันที โดยเกณฑ์จะครอบคลุมทั้งเรื่องการลงทุน การดูแลบุคลากร และการบริหารจัดการองค์กร ภายใต้การมุ่งสู่ความยั่งยืน