EXIM BANK ชูนโยบายพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการค้าการลงทุนใน CLMV และสร้างผู้ส่งออก SMEs ให้เข้มแข็ง

EXIM BANK ชูนโยบายพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการค้าการลงทุนใน CLMV และสร้างผู้ส่งออก SMEs ให้เข้มแข็ง พร้อมเปิดบริการ “สินเชื่อส่งออกสุขใจ” ช่วย SMEs ไม่มีหลักประกันให้เริ่มต้นส่งออกได้

EXIM BANK เดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรและเศรษฐกิจไทย เป้าหมายปี 61 เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบรับทิศทางเศรษฐกิจการค้าโลกที่มุ่งสู่ตลาดใหม่ การลงทุนของไทยในต่างประเทศขยายตัวขึ้น และการเติบโตของภาคธุรกิจอย่างยั่งยืนต้องนำด้วยนวัตกรรม พร้อมนำผู้ประกอบการไทยรุกขยายการค้าการลงทุนในตลาด CLMV และต่อยอดพัฒนาผู้ส่งออกและนักลงทุน SMEs ไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมนำเสนอบริการใหม่สร้างผู้ส่งออก SMEs รายใหม่ ช่วย SMEs ที่ไม่มีหลักประกันให้เริ่มต้นส่งออกได้ด้วย “สินเชื่อส่งออกสุขใจ” วงเงินสูงสุด 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 4.50% ต่อปีในปีแรกสำหรับนิติบุคคลบัญชีเดียวตามนโยบายรัฐบาล

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การค้าโลกมุ่งสู่ตลาดใหม่ที่เรียกว่า New Frontiers โดยเศรษฐกิจตลาดใหม่ในปี 2560 มีสัดส่วนกว่า 50% เทียบกับประมาณ 20% ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา EXIM BANK จึงมีเป้าหมายขยายสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ CLMV ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของไทย ด้วยมูลค่าส่งออกที่ขยายตัวเฉลี่ย 13% ต่อปี จาก 260,000 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 850,000 ล้านบาทในปี 2560

ขณะเดียวกัน ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปัจุบันใช้การลงทุนนำการค้า ทำให้เกิดการขยายการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างฐานการผลิตและตลาดการค้าแห่งใหม่ ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวให้ทัน EXIM BANK จึงพร้อมให้สินเชื่อขยายการลงทุนของผู้ประกอบการไทยใน CLMV ต่อยอดเม็ดเงินลงทุนของผู้ประกอบการไทยในตลาดดังกล่าว ซึ่งขยายตัวเฉลี่ย 30% ต่อปี จากยอดคงค้างเงินลงทุนของไทยใน CLMV ที่ 33,000 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 470,000 ล้านบาทในไตรมาส 3 ของปี 2560

นอกจากนี้ เมื่อการเติบโตของภาคธุรกิจอย่างยั่งยืนต้องนำด้วยนวัตกรรม EXIM BANK จึงเร่งขยายเครือข่ายพันธมิตร ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดโครงการและช่องทางใหม่ๆ ที่จะสนับสนุนด้านข้อมูลความรู้และบริการทางการเงินให้ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยและแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งปิดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ที่พร้อมเริ่มต้นส่งออกให้สามารถเข้าสู่ ตลาดการค้าโลกได้ เพื่อสร้างฐานรากเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง ทั้งนี้ EXIM BANK มีโครงการนำร่องด้านนวัตกรรม อาทิ การให้บริการประกันการส่งออกออนไลน์ การทบทวนวงเงินสินเชื่อออนไลน์ และการพัฒนาธุรกรรมออนไลน์

ในปี 2561 EXIM BANK ได้พัฒนาบริการใหม่ “สินเชื่อส่งออกสุขใจ (EXIM Happy Credit)” เป็นบริการสินเชื่อหมุนเวียน พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) วงเงินสูงสุด 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 4.50% ต่อปีในปีแรกสำหรับนิติบุคคลบัญชีเดียวตามนโยบายรัฐบาล อนุมัติภายใน 7 วันทำการ ไม่ต้องมีหลักประกัน ใช้เพียงบุคคลค้ำประกันเท่านั้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่มีหลักประกันสามารถเริ่มต้นส่งออกได้ โดยมีเป้าหมายอนุมัติวงเงินให้แก่ผู้ส่งออก SMEs รายใหม่จำนวน 750 รายภายในปี 2561

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า จากปี 2560 ที่ EXIM BANK ได้ดำเนินงานตามแผนแม่บท 10 ปี (ปี 2560-2570) โดยสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) และแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจสาขาสถาบันการเงิน ผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 1,360 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 91,886 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2559 จำนวน 8,717 ล้านบาท เป็นสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในระหว่างปีจำนวน 27,331 ล้านบาท และมีการชำระคืนของสินเชื่อเดิมบางส่วน ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 159,948 ล้านบาท

นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่มีศักยภาพให้แข่งขันได้มากขึ้นทั้งทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมีปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 99,612 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs เท่ากับ 37,141 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,110 ล้านบาท หรือ 6.02% เมื่อเทียบกับปีก่อน

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 3.57% เท่ากับปีก่อน โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ จำนวน 3,285 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 7,949 ล้านบาท เป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 3,493 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองหนี้พึงกัน 227.53% ทำให้ธนาคารยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง

ในการทำหน้าที่องค์กรรับประกัน ให้บริการประกันการส่งออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากคู่ค้าในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มความมั่นใจและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ทั้งในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ ในปี 2560 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน เท่ากับ 65,903 ล้านบาท โดย 12,883 ล้านบาทเป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือ 19.55% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม

สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 67,160 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2560 จำนวน 36,216 ล้านบาท อีกทั้ง EXIM BANK ยังมุ่งเน้นการขยายฐานการค้าและการลงทุนในตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยในเดือนมิถุนายน 2560 EXIM BANK ได้เปิดสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เมียนมา และ EXIM BANK มีแผนจะเปิดสำนักงานตัวแทนใน สปป.ลาว และกัมพูชาต่อไป

“ในปี 2561 EXIM BANK ยังคงมีบทบาทในเชิงรุกขยายสินเชื่อเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายสินเชื่อคงค้างโต 9% เป็น 100,000 ล้านบาท และเร่งขยายบริการประกันส่งออกและการลงทุนเพื่อให้ผู้ส่งออกใช้เป็นเครื่องมือบุกตลาดอย่างมั่นใจ ผ่านช่องทางออนไลน์และช่องทางใหม่ๆ โดยความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องที่จะกระตุ้นให้เกิดปริมาณธุรกิจระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น” นายพิศิษฐ์กล่าว