“แบงก์ชาติ” ระดมเครื่องมือ ผลักเงินออก ตปท.-ดูแลค่าบาท

ความหนักอกหนักใจของแบงก์ชาติในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องความผันผวนของค่าเงินบาท ที่ต้องบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนอย่างยากลำบากขึ้นทุกวัน เพราะปัจจัยรุมเร้ารอบด้านไม่ว่าจะเรื่องสหรัฐฯ ที่จับตา ธปท.เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทมากเกินไป และไทยยังเป็นประเทศที่มีสถานะเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมาก ฟากเงินร้อนต่างชาติก็เฮโลเข้าเก็งกำไรในไทย จนทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 2% เพียงช่วงเดือนแรกของปี 2561 นี้ โดยเงินบาทแข็งค่าสุดที่ 31.30 บาท/ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2561 ซึ่งแข็งค่าที่สุดในรอบ 4 ปี และแข็งขึ้นติดอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค

แม้ล่าสุดเมื่อ 5 ก.พ. ค่าเงินดอลลาร์จะเริ่มกลับข้างมาแข็งค่าอีกครั้ง หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐโชว์ออกมาดีเกินคาด ทำให้นักลงทุนทั่วโลกขยับเงินลงทุนปรับพอร์ตกลับมาหาสหรัฐค่าเงินบาทก็อ่อนค่าเล็กน้อยอยู่ที่บริเวณ 31.67 บาท/ดอลลาร์

แต่สำหรับผู้ส่งออก ก็ยังเรียกร้องให้แบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่ง “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ประกาศหลายรอบ ว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่า เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเป็นหลัก ซึ่ง ธปท.ก็พร้อมดูแลค่าเงินบาทหากมีความผันผวนหรือขึ้นแรงแซงเพื่อนบ้าน รวมถึงจะใช้เครื่องมือเพิ่มเติมหรือมีมาตรการใหม่ ๆ ออกมา

ผลของการแทรกแซงค่าเงินบาท ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 26 ม.ค. 2561 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.13 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มราว 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากสิ้นปี 2560 ขณะที่ฐานะการซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิยังสูงเกิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์

อีกด้านหนึ่ง ธปท.ก็พยายามผ่อนคลายหรือการขยายขอบเขตการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งล่าสุด “นางจันทวรรณ สุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท.ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Foreign Exchange Trade System : CFETS) ได้ขยายขอบเขตการซื้อขายและการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างเงินหยวนและเงินบาทได้ทั่วประเทศจีน จากเดิมทำได้เฉพาะในระดับภูมิภาค ณ มณฑลยูนนาน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มผู้เล่นและสภาพคล่องในสกุลเงินหยวน/บาท นำไปสู่การลดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงิน (spread) และจะช่วยสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของทั้งสองประเทศให้มีมากขึ้น ถือว่าเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการไทย

“ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในภูมิภาค เพื่อลดการพึ่งพาเงินสกุลหลักที่มีความผันผวนมากในปัจจุบัน โดยนอกจากความร่วมมือกับทางการจีนแล้ว ธปท.ยังร่วมมือกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอยู่ในระหว่างดำเนินการกับญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่ม CLMV”

ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้ต่ออายุ bilateral swap agreement ไปอีก 3 ปี เพื่อสนับสนุนการให้สภาพคล่องเงินหยวนและเงินบาท

ปัจจุบัน ค่าเงิน “หยวน” เป็นอีกสกุลเงินที่ใหญ่ของโลก ดังนั้นการออกมาตรการดังกล่าวของธปท. ช่วยลดการพึ่งพาแต่สกุล “ดอลลาร์สหรัฐ” ที่มีความผันผวนหนักในเวลานี้

และหากย้อนดูเมื่อเดือนที่แล้ว ธปท. ก็เพิ่งออกมาตรการเรื่องขยายโอกาสในการนำเงินออกไปลงทุนและใช้ชำระค่าสินค้าในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะเห็น เมื่อต้นปีนี้ ธปท.ออกประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์ภายใต้โครงการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุม การแลกเปลี่ยนเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของเอกชน (ease of doing business) ซึ่ง “เพิ่มวงเงิน” ให้ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการโอนเงินเพื่อใช้ในการชำระค่าสินค้าต่าง ๆ ได้มากขึ้น ขยับเป็นไม่เกิน 8 แสนบาทต่อวันต่อลูกค้าหนึ่งราย จากเดิมให้โอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าไม่เกิน 2 แสนบาทต่อวันต่อรายเท่านั้น

อีกประกาศที่ออกมาต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มเติมในประกาศฉบับเดิมอีก คือการ “ขยายกลุ่มนักลงทุน” ที่สามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ โดยปรับลดสินทรัพย์ของนักลงทุนลงมาเหลือ 50 ล้านบาท ก็สามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้ แต่รวมเม็ดเงินแล้วไม่เกินปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมให้เฉพาะนักลงทุนที่มีสินทรัพย์หรือเงินลงทุน 100 ล้านบาทขึ้นไป จึงจะสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้

นางจันทวรรณ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของ ธปท.ที่ผ่อนคลายเกณฑ์ต่าง ๆ ในเบื้องต้น ก็เพื่อให้โอกาสแก่นักลงทุนมากขึ้น ที่จะออกไปกระจายความเสี่ยงในการลงทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะลงทุนผ่านตัวกลาง หรือลงทุนเอง

“การที่นักลงทุนมีทางเลือกในการใช้ช่องทางลงทุนที่หลากหลายขึ้น จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากช่วงจังหวะนี้ในการตัดสินใจเลือกถือสินทรัพย์ในต่างประเทศ โดยไม่ต้องไปขอวงเงินจาก ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ประโยชน์คือ เป็นเรื่องความคล่องตัวของนักลงทุนในการบริหารทรัพย์สินของตัวเอง” นางจันทวรรณกล่าว


แน่นอนว่า การผ่อนคลายเกณฑ์ให้นำเงินออกนอกประเทศได้คล่องตัวขึ้น คงไม่ได้จะช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้อยู่แล้ว แต่อย่างน้อยก็ทำให้มีช่องทางให้น้ำไหลออกคล่องตัวขึ้น และในระยะยาว นักลงทุนไทยเรียนรู้และกล้าจะออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ก็จะช่วยบาลานซ์กับภาวะเงินไหลเข้าได้ ซึ่งก็หวังจะเห็นผลดีในระยะยาวแก่ประเทศไทย