จับชีพจรหุ้นเมืองไทย ลีสซิ่ง “เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี เราก็ไปต่อได้”

สัมภาษณ์

หุ้น MTLS หรือ บมจ.เมืองไทย ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถโดยเฉพาะกลุ่มมอเตอร์ไซค์ที่ตลาดโตวันโตคืน ถือว่าอยู่อันดับหนึ่งในธุรกิจนี้ ขณะที่ราคาหุ้นก็วิ่งคึกคักเช่นกัน จนล่าสุด (2 ก.พ. 2561) อยู่ที่ 41.75 บาท/หุ้น ทำให้หุ้นมีขนาดมาร์เก็ตแคป (มูลค่าราคาตลาด) พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 8.85 หมื่นล้านบาท เพียงชั่วเดือนเดียว ขึ้นมาราว 6.3 พันล้านบาทนับจากสิ้นปีก่อน ทาง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” ประธานกรรมการบริหารของ MTLS ที่จะมาฉายภาพทิศทางธุรกิจในปีนี้ของบริษัทว่า

“ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ดูสดใส เมื่อภาครัฐมีโปรเจ็กต์ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าความเร็วสูง มีโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เข้ามา ทำให้เกิดการจ้างงาน ในแง่เกษตรกร เมื่อมีรายได้ดี ก็ต้องการซื้อของใหม่เพื่อแทนของเก่า เช่น ทีวี มอเตอร์ไซค์ โทรศัพท์มือถือ ถือเป็นพฤติกรรมคนไทย ดังนั้นจะเห็นว่าธุรกิจของเราไม่ว่าจะเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ก็สามารถไปต่อได้” นายชูชาติกล่าว

ผลงานปี’60 ทำได้เกินเป้า

อย่างเมื่อปีที่แล้ว ทำได้ดีกว่าเป้าหมาย เพราะมีดีมานด์ (ความต้องการขอกู้เงิน) เข้ามาเรื่อย ๆ ก็เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ หากไม่ดี ความต้องการใช้เงินก็จะสูง ปีที่ผ่านมาแม้พืชไร่ผลผลิตจะดี แต่ราคาไม่ดี ชาวบ้านไม่มีเงินก็จะมาขอกู้เรา ซึ่งต่อเนื่องจากปี 2559 ที่มีภัยแล้ง พอชาวบ้านจะใช้เงินก็โทร.มาหาเรา ธุรกิจเราเลยดีมา 2 ปีแล้ว เช่น เมื่อเขา (ลูกค้า) มีปัญหา เขาจะทำนารอบใหม่ เขาไม่มีเงินก็ต้องมากู้ โดยเขามากู้รถแลกเงินกัน

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ปี 2560 ผลดำเนินงานของบริษัท ทำได้เกินเป้าหมาย อย่างกำไรสุทธิคาดจะอยู่ที่ราว 2,400 ล้านบาท หลังจากที่สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ราว 5 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 57% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้โต 50% ส่วนยอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้หลักของ MTLS มาจากพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนของรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์) สัดส่วน 38%, จำนำรถยนต์อยู่ที่ 38% เช่นกัน

ตามด้วยจำนำโฉนดที่ดิน 13% ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ (สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) และพีโลน (สินเชื่อส่วนบุคคล) ขณะที่ฐานลูกค้าหลักของบริษัทมี 5 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรกรสัดส่วน 40% ลูกจ้างรายวัน 20% สาวโรงงาน 15% กลุ่มข้าราชการรัฐวิสาหกิจ 15% ที่เหลือประกอบอาชีพอิสระ โดยลูกค้าทั้งหมดมีจำนวน 16,000 ล้านสัญญา

ชูแนวรุกสาขาใหม่ดันโตต่อเนื่อง

“ชูชาติ” มั่นใจว่า ปีนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่สูง 7 หมื่นล้านบาท หรือโต 40% ส่วนยอดหนี้คงค้างจะอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 42% พร้อมกับเปิดแผนยุทธศาสตร์ คือ ปูพรมขยายสาขาเพิ่มอีก 600 แห่ง เป็น 2,800 แห่งภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเน้นจับพื้นที่ใหม่ ๆ แถบภาคอีสานและภาคใต้ รวมถึงบางทำเลในกรุงเทพฯด้วย ซึ่งสามารถเติบโตได้ถึง 40% ในระยะ 3 ปีจากนี้ อย่างภาคใต้จะมีรถเพื่อการเกษตร รถปิกอัพเยอะ เพราะเขาทำสวนยาง เป็นต้น ทั้งนี้ สิ้นปีที่แล้วบริษัทมีสาขา 2,400 แห่ง บริษัทมีพอร์ตหลักมาจากลูกค้าในภาคเหนือ ซึ่งจะมาใช้บริการค่อนข้างหนาแน่นกว่าภาคอื่น ๆ

“สาขาของเราไม่เน้นอยู่บนห้าง เพราะห้างเปิดสาย ขณะที่เราเน้นกลุ่มเกษตรกร ตอนนี้เราเปิดสาขาครบทุกจังหวัดแล้ว 77 แห่ง และเจาะในอำเภอกว่า 800 แห่ง ระดับตำบลใหญ่ ๆ เราก็จะเข้าไปเพิ่ม ซึ่งในสาขาก็มีขายประกัน เป็นประกันมอเตอร์ไซค์บุคคลที่ 3 แบบภาคสมัครใจ”

ส่วนอีกจุดแข็งที่ดึงดูดลูกค้าได้ ก็เป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยกู้และค่าธรรมเนียมบริการต่าง ๆ รวมกันอยู่ที่ 23% ถือว่าถูกที่สุดในระบบ เมื่อเทียบกับกู้ผ่านนาโนไฟแนนซ์ที่เพดานดอกเบี้ยอยู่ที่ 36% และสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ดอกเบี้ยอยู่ที่ 28% นอกจากนี้ ยังมีบริการที่รวดเร็วอนุมัติใน 20 นาที ซึ่งบริษัทมีอัตรายอดอนุมัติสินเชื่อในระดับสูง อยู่ที่ราว 70-80% ของจำนวนที่ยื่นขอ

คลอดแอปพลิเคชั่นขอสินเชื่อ

และเมื่อต้นปีนี้ บริษัทเพิ่งออกแอปพลิเคชั่น “ขอสินเชื่อ” ผ่านมือถือได้ แม้ว่าลูกค้าจะต้องนำรถจักรยานยนต์มาให้ดู แต่น่าจะเพิ่มความสะดวกแก่ลูกค้าที่ไม่ค่อยมีเวลา ส่วนงานระบบภายใน บริษัทเพิ่งเริ่มต้นใช้โปรแกรมประมวลผลของ SAP ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็วความแม่นยำในการทำงาน ซึ่งจะเพิ่มความน่าเชื่อถือด้านระบบบริหารงาน

ปัจจุบันพอร์ตลูกค้าของบริษัท แยกเป็นลูกค้าจำนำรถยนต์ จะได้วงเงินกู้เฉลี่ยอยู่ที่รายละ 80,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นรถปิกอัพ รถเพื่อการเกษตร แทรกเตอร์ สัดส่วนราว 90% ของพอร์ตจำนำรถ ส่วนที่เหลือเป็นรถเก๋ง ถ้าเป็นจำนำมอเตอร์ไซค์เฉลี่ยรายละ 10,000 บาท หากเป็นนาโนไฟแนนซ์จะเฉลี่ย 20,000 บาท โดยมีอายุกู้เฉลี่ยรายละ 18-24 เดือน ขณะที่ลูกค้า 1 รายจะใช้บริการราว 1.2 สัญญากู้ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อจำนำรถกับพีโลน

ส่วนการติดตามหนี้ของบริษัท เนื่องจากสาขาแต่ละแห่งจะมีพนักงานอยู่ 3-4 คน และพนักงานคนหนึ่งจะทำหมดตั้งแต่เป็นคนวิเคราะห์สินเชื่อ เป็นคนปล่อยกู้และเป็นคนตามหนี้เอง ดังนั้นทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่มีประวัติดีราว 90% ส่วนที่เหลือก็จะต้องตามทวง ซึ่งถ้าตามทวงได้จะได้ค่าคอมมิสชั่น

ดังนั้น แนวโน้มหนี้เสียหรือ NPL (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ปีนี้ น่าจะทรงตัวจากปี 2560 ที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.2% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ซึ่งถือว่าค่อนข้างจะต่ำที่สุดในระบบ

“สัญญาณการชำระหนี้ของลูกค้าจะดีหรือไม่ ต้องดูที่รายได้ โดย 1 ปีที่ผ่านมา รายได้เกษตรกรไม่ค่อยดี แต่ปีนี้แง่รายได้ของเกษตรกรน่าจะดีขึ้น เนื่องมาจากเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐที่มากขึ้น โครงการต่าง ๆ ที่จะทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งกลุ่มพวกนี้เป็นกลุ่มลูกค้าของผม เลยคิดว่าปีนี้เป็นการเติบโตที่ดี ส่วนลูกค้ากลุ่มเกษตร ก็มีผลผลิตดี ส่วนเรื่องราคาพืชผลก็อยู่ที่รัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไร”

เปิดแผน 3 ปีโต 30-40%

ทั้งนี้ “ชูชาติ” ยังฉายภาพในระยะ 3 ปี (ปี 2561-2563) จากนี้ของเมืองไทย ลีสซิ่งว่า คงเติบโตจากโปรดักต์เงินกู้ 5 ตัวนี้ โดยจะโตไปตามสัดส่วนสาขาใหม่ ๆ ที่ขยาย พร้อมกับปักธงสินเชื่อปล่อยใหม่ 2 ปีนี้ โตปีละ 40% และปี 2563 โต 30% ส่วนสาขาจะขยายถึง 4,000 สาขาภายในปี 2563 ซึ่งเชื่อว่าผลจากการเปิดสาขาให้บริการเยอะ จะทำให้มีลูกค้าเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต้นทุนบริการต่อสาขาจะต่ำลง หรือเกิด economy of scale อย่างไรก็ตาม ส่วนของ gross margin ของธุรกิจนี้ ก็จะอยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งจะทรง ๆ อยู่ระดับนี้ อาจจะปรับระดับจุดเล็กน้อย หากว่ามีการขยายสาขาและมีลูกค้าเข้ามาเพิ่มเยอะ ก็จะทำให้ต้นทุนบริการต่อสาขาลดต่ำลงก็จะเกิด economy of scale (ประหยัดขนาด) ด้านเอ็นพีแอลจะคุมให้อยู่ระดับ 1.1-1.2% ซึ่งบริษัทได้ตั้งสำรองหนี้ไว้ครอบคลุมทั้งหนี้เสียและการจะเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ในปี 2562 สูงราว 2.7 เท่าของหนี้เสียรวม

แผนระดมทุนออกหุ้นกู้ 9 พันล.

ด้านแผนระดมเงินเพื่อใช้ปล่อยสินเชื่อ “ชูชาติ” บอกว่า ปีนี้บริษัทจะใช้เงินราว ๆ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากการออกหุ้นกู้ 9,000 ล้านบาท โดยหุ้นกู้ (ตราสารหนี้) ส่วนใหญ่จะออก อายุ 2-3 ปี ผลตอบแทน 3-5% เรตติ้งบริษัทอยู่ที่ BBB นอกจากนี้ ยังมีการออกตั๋วแลกเงิน (B/E) บางส่วนเพื่อบริหารเงิน ส่วนที่เหลือ 6,000 ล้านบาท จะกู้ธนาคาร ซึ่งปัจจุบันหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) อยู่ที่ 3.04% และมีอัตราค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย (interest expense ratio) อยู่ที่ 3.27% ส่วนการเพิ่มทุนยังไม่มีแผนในระยะ 3 ปีนี้แน่ แต่ผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผล 15% ของกำไรรวม

“การที่เราไม่ได้จ่ายปันผลเพิ่ม เพราะต้องเอากำไรสะสมมารองรับการขยายธุรกิจด้วย ธุรกิจมีวงจรของมันอยู่ เป็นตัว J-curve ตอนนี้เราอยู่ขาขึ้น กำลังเติบโต เราควรเก็บเงินปันผลมาขยายธุรกิจ

เพราะใน 3 ปียังไม่ถึงจุดสูงสุดของ J ตอนนี้เรายังอยู่กับผลิตภัณฑ์ 5 ตัวนี้ และเน้นอยู่ในไทย ถ้าผ่าน 3 ปีนี้ไป ก็มารอคุยกันใหม่ เพราะเราอาจเพิ่มโปรดักต์ใหม่ เช่น ปล่อยสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ หรือขยายไป CLMV ไม่ใช่ว่าเราอิงดีมานด์ไทยเท่านั้น” นายชูชาติกล่าว

ต่างชาติส่องหุ้น MTLS

นอกจากนี้ “ชูชาติ” พูดถึงหุ้น MTLS ที่ติด 1 ใน 5 หุ้นที่นักลงทุนต่างชาติอยากจะให้ออกไปโรดโชว์ ว่าปีนี้ก็มีคิวออกไปโรดโชว์ทุกเดือน ทั้งในประเทศ ส่วนต่างประเทศก็มีหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐ ยุโรป เป็นต้น โดยล่าสุดต่างชาติถือหุ้น MTLS สัดส่วน 11.9% ของทุนจดทะเบียนรวม

“ต่างชาติเขาหาหุ้นที่มีการเติบโตชนะตลาด เพราะพอร์ตเขามีการกระจายการลงทุนในประเทศเกิดใหม่เยอะมาก ซึ่งเขามาลงทุนของเราแค่ส่วนน้อย อย่างหุ้นเราเขาอาจลงทุนแค่ 1% ของพอร์ตเขาที่จะลงทุนตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ดี หุ้น MTLS ก็วิ่งขึ้นไปทำนิวไฮที่ 41-42 บาท”


นี่คือหุ้นเมืองไทย ลีสซิ่ง ที่เติบโตในธุรกิจเงินกู้ ที่เป็นเหมือนบ่อน้ำ (เงิน) ให้แก่กลุ่มมนุษย์เงินหมุนที่โตวันโตคืน