เมื่อผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ห่วงนโยบายหาเสียง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

บรรยากาศทางการเมือง ที่กำลังคึกคักนับถอยหลังเข้าสู่เทศกาลเลือกตั้งช่วงต้นปี 2566 ท่ามกลางการเลื้อยไหลของ ส.ส. ย้ายค่ายข้ามพรรคกันอลหม่าน รวมถึงการเจรจาควบรวมพรรคว่าจะลงเอยแบบไหน ไม่ต่างกับการควบรวมกิจการที่ต้องทำ due diligence ประเมินมูลค่าทรัพย์สินหนี้สินกันก่อน เพื่อดูว่า “ราคา” เหมาะสมมั้ย

อีกด้านบรรดาพรรคการเมือง ก็เดินหน้าประกาศนโยบายหาเสียงกันแบบเกทับบลัฟแหลก เพื่อเรียกกระแสนิยมของประชาชน

โดยนโยบายที่ทุ่มหมดหน้าตัก (ประเทศ) ก็คงเป็นนโยบายพรรคภูมิใจไทย เจ้าของสโลแกน “พูดแล้วทำ” ที่ผลักดันนโยบายกัญชาถูกกฎหมาย จนเป็นผลงาน ที่สร้างผลกระทบข้างเคียงมากมาย แบบไม่มีใครรับผิดชอบ

ที่รอบนี้ชูนโยบายหาเสียง “พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น หยุดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท” ที่เห็นป้ายหาเสียงติดทั่วประเทศ

แบบสัญญาว่าใครเป็นหนี้กับทั้งธนาคาร, สถาบันการเงินต่าง ๆ รวมถึงหนี้สหกรณ์ และหนี้ กยศ. ให้พักหนี้ 3 ปี ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ทั้งประกาศว่าจะสามารถเริ่มดำเนินนโยบายได้ภายใน 3 เดือน หลังจากหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะนายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ได้แต่คิดว่าถ้านโยบายนี้ถ้าเป็นจริงขึ้น ไม่รู้ว่าระบบสถาบันการเงินของประเทศจะอยู่ในสภาพไหน แล้วสภาพประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

และล่าสุดที่เรียกความสนใจ และเสียงวิพาก์ษวิจารณ์ของทุกฝ่ายไม่แพ้กัน ก็คือการประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทย และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท/เดือน ซึ่งหมายถึงผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการทุกระดับชั้นที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

แม้ว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย จะพยายามอธิบายเพิ่มเติมว่า ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เศรษฐกิจเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปีติดต่อกัน และอัตราค่าแรง และเงินเดือนปริญญาตรีดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปี 2570 ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะต้องอยู่ครบวาระ 4 ปี

เรียกว่า เห็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองทั้งหลายแล้ว ทำให้คิดถึงคำพูดของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า นอกจากความเสี่ยงใหญ่จากปัจจัยภายนอก ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คิด ตลาดเงินตลาดทุนโลกที่มีความผันผวนและทำงานผิดปกติแล้ว

อีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นห่วงมากกว่าก็คือ “ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล (ไทย) เอง เนื่องจากตอนนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มหาเสียงเลือกตั้งในปีหน้า มีการเสนอนโยบายแปลก ๆ ออกมา”

โดยเฉพาะเป็นนโยบายประชานิยมเกี่ยวกับหนี้ เช่น การพักหนี้ยาว ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเสนอลบข้อมูลเครดิตบูโร ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกทำ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน

ดร.เศรษฐพุฒิระบุว่า “นโยบายอาจฟังดูดีในระยะสั้น แต่จะมีผลข้างเคียงในระยะยาวเยอะก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี เช่น ที่พูดถึงการยกเลิกข้อมูลเครดิตบูโร เพื่อให้คนเข้าถึงสินเชื่อ แต่สุดท้ายจะยิ่งทำให้คนเข้าไม่ถึงสินเชื่อมากขึ้น เพราะเมื่อไม่มีประวัติแบงก์ก็จะไม่กล้าปล่อย”

ต้องบอกว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโลกเราคงทำอะไรไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเราอย่าสร้างความเสี่ยงภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะความไม่สมเหตุสมผลของนโยบายจะทำให้เกิดผลกระทบระยะยาว เช่น กรณีรัฐบาลอังกฤษชุดที่ผ่านมา ได้ออกนโยบายไม่สอดคล้องกันระหว่างนโยบายการเงิน-การคลัง จนทำให้ตลาดเงินปั่นป่วน โดยผู้ว่าการเศรษฐพุฒิเน้นย้ำที่ว่า “Market will punish stupid policy.” ซึ่งสื่อความหมายว่า “ตลาดจะลงโทษนโยบายโง่ ๆ”

นี่คือเสียงเตือนจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีนักการเมืองคนไหนได้ยิน