บาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ตลาดจับตาตัวเลข PCE สหรัฐศุกร์นี้

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

เงินค่าเงินบาทบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ตลาดจับตาตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/12) ที่ระดับ 34.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/12) ที่ระดับ 34.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (20 ธ.ค.) หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างความประหลาดใจต่อตลาดด้วยการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% ซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่า BOJ กำลังส่งสัญญาณการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินตามทิศทางธนาคารกลางทั่วโลก

               

ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 5.5% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 6.0% ในเดือน ต.ค. และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ จะเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือน ต.ค.

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 0.5% ในเดือน พ.ย. สู่ระดับ 1.427 ล้านยูนิต แต่การอนุญาตก่อสร้างบ้านดิ่งลง 11.2% สู่ระดับ 1.342 ล้านยูนิตในเดือน พ.ย. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.64-34.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.72/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (21/12) ที่ระดับ 1.0623/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/12) ที่ระดับ 1.0611/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซนเพิ่มขึ้นเป็น -22.2 จาก -23.9 แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ -22.0

นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเยอรมันในเดือนพฤศจิกายนลดลงที่ -3.9% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ -2.6% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0607-1.0638 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0611/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/12) ที่ระดับ 131.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/12) ที่ระดับ 132.21/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เยนแข็งค่าต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ (20/12)

นักวิเคราะห์หลายราย ซึ่งรวมถึงนายมาซามิชิ อาคาชิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นจากบริษัทยูบีเอส ซิเคียวริตีส์ และอดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า การที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ สร้างปรากฏการณ์ช็อกตลาดด้วยการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรนั้น เป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนทราบว่า BOJ มีแผนที่จะยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy)

แม้ว่านายคุโรดะออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงกลไกตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังเร็วเกินไปที่ BOJ จะหารือกันเกี่ยวกับการถอนนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน แต่นักวิเคราะห์ก็ยังต้องรอดูว่า การใช้กลยุทธ์ดังกล่าวของ BOJ อาจจะเป็นการซื้อเวลาก่อนที่นายคุโรดะจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งที่ดำเนินมา 10 ปี ในเดือน เม.ย.ปีหน้า หรือจะเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.51-132.26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 131.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคมจาก Conference Board, ยอดขายบ้านมือสองเดือนพฤศจิกายน และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -12.25/-11.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -14.5/-11.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ